‘แคท’​ ปูพรมคลาวด์ภาครัฐ ตั้งรับอีกขั้นของนิวนอร์มอล

‘แคท’​ ปูพรมคลาวด์ภาครัฐ ตั้งรับอีกขั้นของนิวนอร์มอล

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดี​อี​เอส) เปิดเผย​ในงานเสวนา Innovation Live Forum ครั้งที่ 1 หัวข้อ The Next Normal ให้คนไทยก้าวทัน เพื่อคนไทยทุกคน ว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีบทบาทมากโดยเฉพาะจากเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เตรียมพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อก้าวสู่สังคมดิจิทัล ทำให้มีความพร้อมโดยเฉพาะด้านคลาวด์

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอสได้ผลักดันนโยบายคลาวด์ ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยีและบริการคลาวด์เป็นอันดับแรก โดยเตรียมพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์กลางภาครัฐ (จีดีซีซี) รองรับการจัดเก็บข้อมูลภาครัฐอยู่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหมดสอดคล้องกระแสโลกที่กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่การประมวลผลแบบคลาวด์อย่างเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับประเทศชั้นนำ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่ได้มีการกำหนดนโยบายคลาวด์ดังกล่าว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในอนาคตซึ่งเข้าสู่ยุคนิวนอร์มอล การผลักดันรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบมีความสำคัญ โดยแต่ละประเทศต่างพยายามผลักดันรัฐบาลดิจิทัลเพื่อตอบสนองนโยบายโซเชียล ดิสแทนซิ่ง ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจจัดอยู่ในกลุ่มสูงมาก หรือ V1 เป็นครั้งแรกจากผลสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งสหประชาชาติ ปี 2020 โดยยังมีโอกาสที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และพัฒนาคลาวด์​ของประเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจัดทำโครงการอย่างจีดีซีซี ซึ่งเป็นแผนงานส่วนหนึ่งตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงดีอีเอส

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)​กล่าวว่า โครงการจีดีซีซี ได้เปิดให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐาน​ ด้วยมาตรฐานการคัดแยกข้อมูล ที่ออกแบบรองรับการนำข้อมูลมาบูรณาการในอนาคต ระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน รวมถึงระยะยาวที่จะสามารถต่อยอดการจัดการกับบิ๊กดาต้า พร้อมทั้งเปิดข้อมูลสำหรับข้อมูลบางส่วน เพื่อให้ภาคเอกชน ประชาชน หรือสตาร์ตอัพ ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลเหล่านี้

Advertisement

นางวรรณพร กล่าวว่า นอกจากนี้ การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของรูปแบบคลาวด์​ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตของบริการคลาวด์ภาครัฐเติบโตเฉลี่ยที่ 13.4% ต่อปี สดช.จึงเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในรูปแบบต่างๆ ของคลาวด์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่จะสามารถนำระบบจีดีซีซีไปต่อยอดในอนาคต เพื่อบริการให้กับหน่วยงานภาครัฐโดยคำนึงถึงความต่อเนื่องของการใช้งาน ความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูล

ทั้งนี้ ในปี 2563 โครงการจีดีซีซีมีแผนดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน​คลาวด์​ให้สามารถรองรับการบริการได้อย่างน้อย 8,000 VM มีมาตรฐานการคัดแยกข้อมูล ป้องกันข้อมูลไม่ให้รั่วไหล ข้อมูลสำคัญต้องอยู่ภายในประเทศ ต้องมีการคุ้มครองข้อมูล และความปลอดภัยของข้อมูล มีระบบนำร่องการแชร์ข้อมูล มีการเปิดเผยข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ โดยปี 2564 จะผลักดันการแชร์ข้อมูล​ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานหลัก และปี 2565 จะมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม​

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท​ กสท โทรคมนาคม​ จำกัด (มหาชน)​ หรือแคท กล่าวว่า จีดีซีซีออกแบบสอดคล้องกับโครงสร้างภาครัฐเพื่อรองรับความต้องการการใช้งานต่างระดับด้วยร่างยุทธศาสตร์​ ซึ่งให้ความสำคัญกับการบูรณาการตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐาน และจัดทำเป็นคลาวด์ 3 ระดับ ได้แก่ คลาวด์ระดับกระทรวง, คลาวด์ระดับกรม และคลาวด์กลางภาครัฐ โดยหน่วยงานที่มีระบบคลาวด์มาตรฐานใช้งานอยู่แล้ว สามารถใช้ระบบคลาวด์ปัจจุบันของหน่วยงานเองต่อไปได้ แต่หากหน่วยงานใดไม่ต้องการลงทุนระบบ ก็สามารถมาใช้งานจีดีซีซีได้ นอกจากนี้หากหน่วยงานใดที่มีความจําเป็นต้องใช้คลาวด์แบบเร่งด่วน หรือเป็นระบบสํารองก็สามารถมาใช้งานจีดีซีซีได้เช่นกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image