คลายล็อกดันดัชนีอุตฯเพิ่มต่อเนื่อง ชงรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคเน้นอีอีซี

คลายล็อกดันดัชนีอุตฯเพิ่มต่อเนื่อง ชงภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค เน้นอีอีซี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 80.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 78.4 ในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 ระยะที่ 3 และ 4 รวมทั้งยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิวส์) ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ขณะที่ด่านการค้าชายแดนเริ่มทยอยเปิดในหลายพื้นที่ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทย นอกจากนี้ตลอดเดือนมิถุนายนจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายวันอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 100 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสภาพคล่อง และการเข้าไม่ถึงสินเชื่อโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อม ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งต้นทุนประกอบการสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งโลจิสติกส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,205 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 50.0, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 46.7, ราคาน้ำมัน ร้อยละ 36.1 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 20.5 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 70.1

ด้านดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 90.1 โดยลดลงจากระดับ 91.5 ในเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอของกำลังซื้อในประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจากความเปราะบางเศรษฐกิจ และความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกสอง ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงฤดูฝนมีไม่มากนัก ดังนั้นมาตรการภาครัฐฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากโควิด-19 มีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

Advertisement

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1.ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ขอให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสนับสนุนการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ 2.ขอให้ บสย. เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ ธปท. 5 แสนล้านบาทต่อหลังจากหมด พ.ร.ก. เงินกู้ฯ เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น 3.ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในส่วนภูมิภาคโดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image