เปิดผลสำรวจพ่อ-แม่ช่วงเปิดเทอม 95% เดือดร้อนหนัก จี้รัฐใช้เงินกู้ 4 แสนล้านช่วยการศึกษา

เปิดผลสำรวจพ่อ-แม่ช่วงเปิดเทอม 95% เดือดร้อนหนัก จี้รัฐใช้เงินกู้ 4 แสนล้านช่วยการศึกษา ไม่เสียเงินสักบาท 1 ปี

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่เดอะฮอล์ บางกอก เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดงานเสวนา “ความยากลำบากของผู้ปกครองในการรับมือเปิดเทอมช่วงโควิด-19”

นางสาวปาลิณี  ต่างสี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มที่มีบุตรหลานในวัยเรียน 2,286 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่16-26 มิถุนายน จากผู้ปกครองหลากสาขาอาชีพ โดยเมื่อถามถึงความกังวลใจช่วงเปิดเทอม กว่าร้อยละ 28.69 ระบุว่า เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รองลงมาคือกลัวบุตรหลานเรียนไม่ทันหรือไม่เข้าใจบทเรียน กังวลว่าเด็กๆอยู่กับสังคมออนไลน์มากเกินไป และห่วงความไม่ปลอดภัยหลังมีข่าวเด็กนักเรียนถูกคุกคามทางเพศมากขึ้น

“ผู้ปกครองต่างได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยร้อยละ 69.24  มีรายได้ลดลง ขณะที่ร้อยละ 16.97 ตกงาน ประกอบอาชีพไม่ได้ เมื่อถามถึงได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือไม่พบว่า ร้อยละ 48.48 ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐแต่ไม่เพียงพอ  ร้อยละ 27.42 หรือประมาณ 1 ใน 4 ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ร้อยละ 12.29 ได้รับความช่วยเหลือเพียงพอ และร้อยละ 11.81 ไม่ขอรับความช่วยเหลือ วิกฤตครั้งนี้ทำให้ผู้ปกครองเกือบทั้งหมดหรือ กว่าร้อยละ 95.41 มีผลกระทบด้านการศึกษาของบุตรหลาน ร้อยละ 25.41 ต้องหาแหล่งกู้เงินมาใช้จ่าย ร้อยละ 24.06 งดซื้ออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน ร้อยละ 14.55 ลดค่าขนมไปโรงเรียน ร้อยละ 8.17 เลือกจำนำสิ่งของเครื่องใช้ ผู้ปกครองเกินครึ่งอยากรัฐให้มีนโยบายช่วยเหลือ ลดหรืองดเว้นค่าเทอม ค่าบำรุง ตามด้วยมีกองทุนช่วยเหลือที่เข้าถึงได้ง่าย” นางสาวปาลิณี กล่าว

Advertisement

ด้าน นายอนรรฆ  พิทักษ์ธานิน ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลสำรวจส่งสัญญาณว่า 1 ใน 4 ของประชากร ต้องกู้หนี้เพื่อมาใช้จ่ายด้านการศึกษา สวนทางกับนโยบายภาครัฐที่ให้เรียนฟรี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรียนฟรีไม่มีจริง เรายังต้องจ่ายเงินเพื่อการศึกษาอยู่ ทั้งที่การศึกษาไม่ควรมีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง ยกตัวอย่าง ผู้ปกครองต้องมีภาระค่าใช้จ่ายจัดหาแมสก์ให้กับบุตรหลาน และในเดือนนี้จะสิ้นสุดมาตรการความช่วยเหลือของรัฐ จะทำให้รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการศึกษา หรือหลุดออกจากระบบการศึกษาได้

“ทางออกของเรื่องนี้ เราต้องไปดูที่ภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางนี้อย่างไร โดยเฉพาะเงินกู้ 4 แสนล้านนี้ว่า จะลงไปช่วยกลุ่มที่เดือดร้อนได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ภาครัฐจะต้องออกมาเคลียร์ตัวเองให้ชัดเจน มีเป้าหมายการใช้เงิน เพื่อให้เกิดการจ้างงานกับคนกลุ่มนี้ หรือภาครัฐจะมีมาตรการลดรายจ่าย โดยเฉพาะในแง่ของการศึกษา ต้องมาดูว่าที่ผ่านมาผู้ปกครองมีต้นทุนด้านการศึกษามาตลอด รัฐบาลกล้าหรือไม่ที่จะประกาศว่าถ้าเป็นเรื่องของการศึกษาภายใน 1 ปีนี้ไม่ต้องเสียเงินสักบาทจริงๆ” นายอนรรฆ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image