‘เอไอเอส’ จับมือ ‘อมตะ’ หยิบ 5จี สร้าง ‘สมาร์ทซิตี้’ เดินหน้าพัฒนารอรับนักลงทุนต่างชาติ

เอไอเอสจับมืออมตะหยิบ 5จี สร้าง ‘สมาร์ทซิตี้’ เดินหน้าพัฒนารอรับนักลงทุนต่างชาติ

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอสเปิดเผยว่า เอไอเอสได้ร่วมมือกับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด จัดตั้งบริษัท อมตะ เน็ทเวอร์ค จำกัด เพื่อนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญเข้าไปเสริมศักยภาพอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี โดยวิสัยทัศน์ของเอไอเอสคือ ต้องการผันตัวเองจากการเป็นผู้ให้บริการด้านสัญญาณโทรศัพท์ เป็นผู้ให้บริการดิจิตอล สิ่งที่สำคัญคือ จะเน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล (ดิจิตอล อินฟราสตรัคเจอร์) ที่มีความแข็งแรงในธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะทำธุรกิจส่วนตัวของบริษัทฯแล้วยังเห็นว่าดิจิตอล อินฟราสตรัคเจอร์ ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการทำให้คู่หูทางธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย สามารถใช้ประโยชน์จากอินฟราสตรัคเจอร์ได้ ซึ่งหัวใจในการดำเนินงานคือ ต้องการที่จะโตไปพร้อมกับคู่หูทางธุรกิจ สิ่งที่บริษัทฯจะดำเนินการทางธุรกิจ จะใช้จุดแข็งในด้านเทคโนโลยีดิจิตอลที่เป็นจุดแข็งของบริษัทฯ จะไม่ทำธุรกิจแข่งขันกับพันธมิตรทางธุรกิจของบริษัทฯ แน่นอน ทำให้เมื่อบริษัทฯ ตั้งใจที่จะพัฒนาด้านดิจิตอลอินฟราสตรัคเจอร์ จึงร่วมมือกับคู่หูทางธุรกิจพัฒนาไปพร้อมกัน

นายสมชัยกล่าวว่า การร่วมมือกับอมตะ เพราะอมตะถือเป็นผู้นำในด้านนิคมอุตสาหกรรม และเอไอเอสเป็นผู้นำในด้านดิจิตอลอินฟราสตรัคเจอร์ และโครงข่ายสื่อสาร ทำให้เมื่อ 2 ผู้นำมาร่วมมือกัน ก็จะเป็นการช่วยเหลือในส่วนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละส่วนของตนเอง จะไม่มีการลงทุนเพื่อแข่งขันทางธุรกิจกันเอง ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่มีสอดคล้องกันทั้ง 2 องค์กร โดยเมื่อเอไอเอสเข้ามาสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมให้กับอมตะแล้ว ก็สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นสมาร์ทซีตี้ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นเพราะมีความแข็งแกร่งในธุรกิจด้านนิคมอุตสาหกรรม และมีพื้นที่ขนาดใหญ่ในการรองรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามา จึงต้องพัฒนาเพื่อวางโครงข่ายดิจิตอลรองรับการเติบโตและเพื่อทำให้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม มีความแตกต่าง และช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ลดต้นทุนในด้านค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ส่วนจะช่วยได้มากหรือน้อยเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละบริษัทจะสามารถนำระบบดิจิตอล เข้ามาใช้มากน้อยเท่าใด อาทิ หากนำมาใช้เพียงการติดตือสื่อสาร หรือโทรคมนาเท่านั้นประสิทธิภาพหรือต้นทุนก็คงเพิ่มขึ้นหรือลดลงไม่มากนัก แต่หากนำมาใช้ในเรื่องหุ่นยนต์ภาคการผลิต ประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้น และต้นทุนลดลงแน่นอน

การร่วมมือระหว่างอมตะและเอไอเอส ได้ทำงานร่วมกันมาแล้วกว่า 4 ปี โดยเอไอเอสถือหุ้น 60% ส่วนอมตะถือหุ้น40% ใช้เงินลงทุน 100 ล้านบาท ในการทำงานร่วมกันถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา บริษัท อมตะเน็ทเวอร์คฯ มีกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งการร่วมมือกันในระยะถัดไปจาก จะเป็นการนำเทคโนโลยี 5จี ที่ได้วางโครงข่ายเบื้องต้นให้กับนิคมของอมตะ พัฒนาให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้างความแตกต่างที่มากกว่าให้กับนิคมอุตสาหกรรมไทย รวมถึงที่ผ่านมาได้วางโครงข่าย 5จี ในโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งหมดแล้วทั้งโครงข่าย 5จี ปกติ และ 5จี แบบสแตนอโลน (เอสเอ) ซึ่งทุกอย่างจะวิ่งบนโครงข่าย 5จี อย่างสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นรายแรกในประเทศไทย และรายแรกในภูมิภาคเอเชียนายสมชัยกล่าว

นายสมชัยกล่าวว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้ จะใช้โครงข่าย 5จี มาพัฒนาประเทศ ซึ่งการพัฒนาโครงการอีอีซีก่อน ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญ ที่จะเป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยกระโดดขึ้นมาได้ โดยไทยไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกนี้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านก็มีการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนเช่นกัน หากมีการสร้างนวัตกรรมใหม่เพิ่มเข้ามา เพื่อสร้างความแตกต่าง เชื่อว่าจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้มากขึ้น ซึ่งหากนักลงทุนเข้ามา ก็จะเกิดการจ้างงานภายในบริเวณนั้นๆ โดยนิคมอุตสาหกรรม ในสายตาต่างชาติ หากมีความพร้อม อาทิ มีโครงข่าย 5จี และอินฟราสตัคเจอร์ รวมถึงมีสมาร์ทซิตี้ทั้งระบบ จะดึงดูดใจได้มากขึ้น ซึ่งการตัดสินใจลงทุนจะเกิดการจ้างงานที่เป็นแรงงานมากขึ้น แม้จะมีการปรับเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้นก็ตาม

Advertisement

ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ และ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัดกล่าวว่า การร่วมมือกับเอไอเอส ได้เปลี่ยนแปลงด้านการใช้โครงข่ายคมนาคมแบบเดิม หลังจากเอไอเอสได้วางโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) เข้ามา ก็ทำให้การสื่อสารมีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการลงทุนของนักลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ ต้องการความคล่องตัว และความรวดเร็วเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ เพราะจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ซึ่งการร่วมงานกับเอไอเอส สามารถทำให้ลูกค้าของอมตะกว่า 1,200 โรงงาน ที่มีประชากร 2-3 แสนราย สามารถพัฒนาการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายวิกรมกล่าวว่า ขณะนี้ได้เปลี่ยนจากการเป็นสายการผลิต เข้าสู่นวัตกรรมใหม่ โดยได้ร่วมมือกับเมืองโยะโกะฮะมะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ทั้งเมืองอย่างเต็มรูปแบบ จึงร่วมมือกับรัฐบาลเมืองโยะโกะฮะมะ ในการตั้งเป็นเมืองโยะโกะฮะมะ 2 ทำให้การร่วมมือกับเอไอเอส ช่วยให้สามารถขยับตัวได้ง่ายขึ้น เหมือนที่บริษัท ฮิตาชิเอเซีย จำกัด ได้มีการเปิดตัว ศูนย์ลูมาด้า (Lumada Center) นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ที่เปรียบเสมือนสมองของไอโอที โดยการทำงานในอนาคตไม่จำเป็นต้องเป็นคนกับเครื่องจักรเท่านั้น แต่จะเป็นเครื่องจักรคุยกับเครื่องจักรแทน ทำให้โรงงานเหล่านั้นสามารถเดินหน้าด้วยตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง ไร้ข้อเสียในด้านเวลา หรือความแม่นยำ ในการใช้แรงงานคนตามปกติ ซึ่งฮิตาชิไม่เคยไปพัฒนาที่ใด แต่มาทำที่อมตะเป็นที่แรก

นายวิกรมกล่าวว่า จีดีพีก่อนเกิดโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 6% แต่ไทยโตเพียง 2% เท่านั้น และการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ก็หันไปลงทุนในประเทศอื่น ที่มีความสามารถในการแข่งขันมากกว่า ทำให้ปัจจุบันไทยไม่ได้เป็นเป้าหมายการลงทุนของต่างชาติหลัก อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน การสร้างสมาร์ซิตี้ จะเป็นสินค้าใหม่ ที่สามารถสร้างการแข่งขันระหว่างประเทศได้ดีมากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ นวัตกรรมใหม่ และการบริหารงานรูปแบบใหม่ จะช่วยเสริมให้นักลงทุนอยากเข้ามาไทยมากขึ้น โดยในด้านสายการผลิตยังคงเดินหน้าไปต่อเนื่อง คาดว่าในอนาคตจะมีโรงงานเพิ่มขึ้นจาก 14,000 โรงงาน เป็น 3,000 โรงงาน และแรงงานจาก 300,000 คน เป็น 1,000,000 คนทำให้เกิดการจ้างงาน ไม่ใช่เป็นเรื่องแรงงานตามเดิม แต่เป็นการเพิ่มทักษะใหม่ของแรงงานมากกว่าเดิม

Advertisement

“ภาพนิคมอมตะ ขณะนี้มีการปิดตัวลงกว่า 70 โรงงาน และมีการแจ้งปลดแรงงานเพิ่มเติม ทำให้ประเมินภาพการลงทุนหลังโควิด-19 ยังไม่สามารถประเมินได้ โดยคาดว่าในช่วงถัดไป การพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ของต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งหากไวรัสโควิด-19 ยังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ การลงทุนจะแย่ เพราะบริษัทใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าได้รับผลกระทบหมด ทำให้เม็ดเงินในการลงทุนคงไม่สามารถเข้ามาได้ เพราะไทยยังไม่เปิดให้ต่างชาติเข้ามา ธุรกิจที่ยังขับเคลื่อนอยู่จึงจะทรุดลงเรื่อยๆ รวมถึงความกังวลสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจถูกซ้ำเติมมากขึ้นต่อเนื่อง จึงประเมินว่าการลงทุนในประเทศดูมีความเหนื่อยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านอกจากนี้ ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2564 จะติดลบด้วยตัวเลข 2 หลัก จากปี 2563 ที่คาดว่าจะติดลบ -8% ภายใต้การค้นพบวัคซีนต้านไวรัส ที่จะสามารถออกมาได้ในช่วงใด หากเร่งออกมาได้ในสิ้นปีนี้ และใช้เวลารักษาได้จริงอาจต้องใช้เวลาต่อไปอีกเป็นปีนายวิกรมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image