การบินไทย : ธนาคารให้กู้ซื้อเครื่องบิน ที่เกาะเคย์แมน

สงสัยไปตามๆ กัน เมื่อเปิดเผยรายชื่อบรรดาเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินแก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แทนที่จะเป็นบริษัทผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ที่อเมริกาหรือยุโรป อย่างที่คนส่วนใหญ่คาดหวัง กลับกลายเป็นบริษัทชื่อแปลกๆ ไม่มีใครเคยได้ยิน แถมบางบริษัท ยังมีชื่อไทยเก๋ไก๋ เสียอีกด้วย และล้วนเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นในประเทศปลอดภาษี เช่น หมู่เกาะเคย์แมน ในทะเลแคริบเบียน เขตปกครองตนเองของอังกฤษ แต่อยู่ทางใต้ของอเมริกา เลยคิวบา ไปหน่อย

บริษัทเหล่านี้ เป็นบริษัทเฉพาะกิจ ตั้งขึ้นมาเพื่อกู้เงินไปซื้อเครื่องบินโดยเฉพาะ แล้วนำมาให้เช่าต่อแก่สายการบิน เพื่อหากำไรอีกทอดหนึ่ง

เป็นโครงสร้างทางการเงินที่คิดค้นขึ้นโดยกลุ่มนักธุรกิจอเมริกันเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว และใช้กันมาต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ กับแทบจะทุกสายการบินของประเทศต่างๆ จนถึงปัจจุบัน

ทำไมต้องเป็นเคย์แมน

Advertisement

ท่านเดาไม่ผิด ที่นักลงทุนต่างชาติต้องไปตั้งบริษัทเฉพาะกิจให้เช่าเครื่องบิน ที่หมู่เกาะเคย์แมน ก็เพราะเหตุผลทางภาษี และไม่ใช่แต่ที่เคย์แมนเท่านั้น ยังรวมไปถึงประเทศปลอดภาษีอื่นๆ ด้วย ได้แก่ หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ไอซ์แลนด์ หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า บีวีไอ เป็นเขตปกครองตนเองของอังกฤษเหมือนกัน อยู่ไม่ไกลจากเคย์แมน

การที่บริษัทเฉพาะกิจ และนักลงทุนต่างชาติ ไปซื้อเครื่องบินไกลถึงทะเลแคริบเบียน แล้วนำมาให้เช่าต่อกับการบินไทย และสายการบินอื่นๆ เขาไม่ต้องเสียภาษีเลย ทำให้มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ คุ้มค่ากับความเสี่ยงในการลงทุน เผื่อไว้ในยามยาก ยามที่ขายเครื่องบินไม่ออก หรือสายการบินผิดนัด เพราะเกิดโรคระบาด หรือภัยพิบัติไปทั่วโลกอย่างในขณะนี้

อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ ก็เพื่อจะให้นักลงทุนต่างชาติหลุดพ้นจากความรับผิดทางกฎหมาย ที่มีต่อธนาคารต่างชาติผู้ให้กู้มาซื้อเครื่องบิน เพราะเป็นการกู้ยืมเงินแบบไม่ต้องรับผิด กล่าวคือให้บริษัทเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาใหม่ รับผิดแทนในฐานะผู้กู้ แต่นักลงทุนไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินกู้นั้น นักลงทุนต่างชาติรับผิดเพียงแค่ค่าหุ้นในฐานะผู้ถือหุ้นที่ตนนำไปลงในบริษัทเฉพาะกิจ ประมาณ 20% ของราคาซื้อเครื่องบิน นอกนั้นให้บริษัทเฉพาะกิจผู้กู้ กับกลุ่มธนาคารต่างชาติผู้ให้กู้ ไปว่ากันเอาเอง โดยไม่ลามมาถึงนักลงทุน

Advertisement

ธนาคารยอมได้ยังไง

เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ ราคาไม่น้อย ประมาณ 9,600 ล้านบาท มีคำถามว่า กลุ่มธนาคารต่างชาติยอมปล่อยกู้ให้กับบริษัทเฉพาะกิจตั้งใหม่ ที่ไม่ทรัพย์สินอะไรเลย ได้ยังไง

อันนี้เขามีโครงข่ายความสัมพันธ์กันมาหลายสิบปี ทั้งนักลงทุน ผู้ผลิตเครื่องบิน ธนาคาร และสายการบิน ทำธุรกิจกันมาอย่างยาวนาน ทุกคนคุ้นเคยกับคู่ค้า และความเสี่ยงของธุรกรรมเป็นอย่างดี ไม่มีใครเป็นคนแปลกหน้า

และธนาคารไม่ได้รับความเสี่ยงค่าซื้อเครื่องบินทั้ง 100% ธนาคารให้กู้แค่ 80% หรือ 7,680 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 20% 1,920 ล้านบาท นักลงทุนเป็นผู้แบ่งรับความเสี่ยงไป ในรูปของค่าหุ้นที่ตนนำไปลงในบริษัทเฉพาะกิจ ผู้กู้

ที่สำคัญที่สุด การปล่อยกู้แบบนักลงทุนไร้ความรับผิดนี้ ก็คล้ายๆ กับการปล่อยกู้ให้โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ที่ธนาคารผู้ให้กู้ มองที่กระแสเงินสดของผู้กู้ เป็นหลัก ธนาคารจะมองว่าค่าเช่าเครื่องบินรายเดือนที่บริษัทเฉพาะกิจได้รับตลอดอายุสัญญาเช่านั้นมีพอที่จะจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยและใช้คืนเงินต้นหรือเปล่า สายการบินผู้เช่า น่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใด มีความมั่นคงทางการเงินไหม ตลาดการบินระหว่างประเทศ เป็นอย่างไรเป็นต้น

บริษัทเฉพาะกิจซื้อเครื่องบินจากบริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่

บริษัทเฉพาะกิจ เมื่อระดมทุนได้ครบ 9,600 ล้านบาทแล้ว ก็จะนำไปซื้อเครื่องบินใหม่เอี่ยม จากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารยักษ์ใหญ่ ทั้งที่อเมริกาและยุโรป โดยเป็นการซื้อขาด

บริษัทเฉพาะกิจเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในเครื่องบิน แล้วนำมาเช่าต่อ ให้การบินไทย กินส่วนต่าง ที่ค่าเช่าสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ ที่ต้องจ่ายให้ธนาคาร เมื่อได้กำไรมา ก็นำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นนักลงทุน

เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า บริษัทเฉพาะกิจผู้กู้-ผู้ให้เช่า ใช้หนี้ธนาคารหมดแล้ว การบินไทยก็จะมีสิทธิเลือกซื้อเครื่องบิน จากบริษัทเฉพาะกิจผู้ให้เช่า ในราคาที่กำหนดไว้ให้มากกว่าเงินลงทุน 20% ที่ผู้ถือหุ้นใส่เข้ามาในบริษัทเฉพาะกิจ เป็นกำไรส่วนต่างอีกส่วนหนึ่ง ที่บริษัทเฉพาะกิจผู้ให้เช่าและนักลงทุนผู้ถือหุ้น หวังจะได้รับ
หลักประกัน ของธนาคาร

นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารต่างชาติผู้ให้กู้ ยังมีหลักประกัน เป็นการโอนสิทธิในสัญญาเช่าเครื่องบิน โดยบริษัทเฉพาะกิจผู้กู้-ผู้ให้เช่า ได้โอนสิทธิในการรับค่าเช่าจากการบินไทยผู้เช่าเครื่องบิน ให้ธนาคารผู้ให้กู้แล้ว เป็นหลักประกัน ตั้งแต่ก่อนได้รับเงินกู้

ในภาวะปกติ บริษัทเฉพาะกิจผู้ให้เช่า ก็รับค่าเช่าจากการบินไทย แล้วนำมาจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้แก่กลุ่มธนาคาร โดยหักค่าต๋งไว้เป็นกำไร

แต่ถ้าหากการบินไทยผิดนัด เช่นเมื่อสายการบินผู้เช่ายื่นขอฟื้นฟูกิจการ ธนาคารก็จะบังคับการโอนสิทธิ ให้การบินไทยจ่ายค่าเช่าให้ธนาคารโดยตรงการโอนสิทธิเป็นหลักประกันนี้ ยังรวมไปถึงการโอนสิทธิในเงินค่าสินไหมทดแทน ตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่บริษัทเฉพาะกิจผู้กู้มีสิทธิที่จะได้รับจากบริษัทประกันภัยอีกด้วย

ส่วนเรื่องจำนองเครื่องบินเป็นหลักประกัน ที่นานาชาติเขาทำกัน เมืองไทยทำได้หรือไม่ ต้องไปว่ากันเป็นเรื่องเป็นราวต่างหาก

ภาระภาษีของบริษัทเฉพาะกิจและผู้ถือหุ้นเป็นศูนย์

ที่นักลงทุนต่างชาติ เลือกเกาะเคย์แมน เป็นสถานที่ตั้งจดทะเบียนของบริษัทเฉพาะกิจก็เพราะ ที่หมู่เกาะดังกล่าว ไม่มีภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีหัก ณ ที่จ่าย บริษัทเฉพาะกิจ ไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ เลย สำหรับรายได้ค่าเช่าที่ได้รับจากการบินไทย มิหนำซ้ำเมื่อตัดกำไรไปจ่ายเป็นเงินปันผล เงินปันผลที่จ่ายให้นักลงทุนผู้ถือหุ้นก็ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้ถือหุ้นก็ได้รับเงินปันผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เวลาที่บริษัทเฉพาะกิจผู้กู้จ่ายค่าดอกเบี้ย ให้กับธนาคารผู้ให้กู้ ดอกเบี้ยนั้น ก็ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเช่นกัน

ตอนที่การบินไทยใช้สิทธิซื้อเครื่องบิน เมื่อหมดอายุสัญญาเช่า กำไรส่วนต่างจากเงินลงทุน 20% ที่บริษัทเฉพาะกิจได้รับเป็นค่าใช้สิทธิซื้อเครื่องบินของการบินไทย บริษัทเฉพาะกิจ ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

มิหนำซ้ำ ที่หมู่เกาะแห่งนี้ ยังไม่มีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้บริหารของบริษัทเฉพาะกิจที่ประจำการอยู่ที่นี่จึงไม่มีภาระภาษีเป็นส่วนตัวเช่นกัน
เคย์แมนไม่เก็บภาษีแล้วหารายได้ของประเทศมาจากไหน รายได้ส่วนใหญ่ของเขามาจากนักท่องเที่ยว และค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่าง ๆ ภาษีนำเข้าที่นั่นเขายังเรียกเก็บอยู่ จากสินค้านำเข้าแทบทุกชนิด และแสนแพง

การบินไทย ไปเกี่ยวอะไร กับเขาด้วย

โครงสร้างของสัญญาเช่าทางการเงินนี้ เป็นโครงสร้างที่นิยมใช้กันกับแทบจะทุกประเทศ เอื้อประโยชน์ให้กับคู่สัญญาทุกฝ่ายมาหลายสิบปี ยามปกติทุกคนก็มีกำไร อยู่ดีมีสุข ถือเป็นข้อชดเชย ความยากลำบากยามเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ หากการบินไทย ไม่ยอมรับสัญญาเช่าทางการเงินแบบนี้ เขาก็ไม่ขายเครื่องบินให้เท่านั้นเอง

ส่วนเมื่อหลังจากวันที่ศาลล้มละลายกลาง ไต่สวนนัดแรกในวันที่ 17 สิงหาคมไปแล้ว ศาลมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการได้ และประกาศคำสั่งศาลในราชกิจจานุเบกษา และหนังสือพิมพ์รายวันไปแล้ว

เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในหนึ่งเดือน เจ้าหนี้ที่จะมายื่นขอรับชำระหนี้ น่าจะเป็นกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ต่างชาติ ที่บังคับใช้สิทธิรับโอนสัญญาเช่าเครื่องบินแล้ว แทนที่จะเป็นบริษัทเฉพาะกิจผู้ให้เช่า ที่ปรากฏชื่อเป็นเจ้าหนี้อยู่ท้ายคำขอฟื้นฟู

ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร เจ้าหนี้อื่นต้องตรวจสอบเอกสารประกอบการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของทั้งธนาคารและบริษัทเฉพาะกิจผู้ให้เช่าให้ดีๆ เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่า ธนาคารได้รับสิทธิเป็นเจ้าหนี้ใหม่ของการบินไทยโดยตรงโดยถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือไม่ และบริษัทเฉพาะกิจผู้ให้เช่า เสียสิทธิในการเป็นเจ้าหนี้จากการโอนสิทธิในสัญญาเช่าเครื่องบินให้ธนาคารหรือยัง

วิโรจน์ พูนสุวรรณ เป็นที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส และหัวหน้าโครงการพิเศษ สำนักกฎหมายบลูเมนทอล ริชเตอร์ แอนด์สุเมธ ติดต่อได้ที่ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image