‘ภัยแล้ง’ทำปลาเกือบสูญพันธุ์ ไม่พอทำปลาร้า ใช้’งู-ปลาไหล’ทดแทน กรมประมงผุดโครงการ เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืด คืนชีวิตสู่แหล่งน้ำ

นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภัยแล้งในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้สัตว์น้ำจืด เช่น ปลา หายไปจากแม่น้ำลำคลองของไทยเกือบ 80% ของปริมาณปลาธรรมชาติในปีปกติที่มีประมาณ 2 แสนตัน ซึ่งคิดเป็น 40% ของปลาน้ำจืดที่คนไทยบริโภคต่อปี สะท้อนปลาน้ำจืดที่คนไทยบริโภคในปีนี้มาจากปลาเพาะเลี้ยงเป็นหลัก ซึ่งมีประมาณ 60% ของปริมาณความต้องการบริโภคปลาน้ำจืดในประเทศต่อปี เมื่อปริมาณปลาน้ำจืดหายไปจากระบบ ส่งผลให้ราคาปลาน้ำจืดเพิ่มขึ้นเป็น 45-60 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) หรือเพิ่ม 20% จากปกติราคา 40-50 บาทต่อกก. นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนไทย เช่น ที่ผ่านมามีข่าวพบซากงูในปลาร้า แสดงให้เห็นว่าปลาหายาก คนผลิตปลาร้าจะนำงูและปลาไหลมาทำปลาร้าก็จะพบบ่อยขึ้น เพราะปลาธรรมชาติไม่มี หากจะใช้ปลาเลี้ยงต้นทุนก็ต้องสูงขึ้น

“เมื่อปริมาณปลาหายไป กรมประมงเตรียมทำโครงการ ‘เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืด คืนชีวิตสู่แหล่งน้ำ’ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างแหล่งอาหารโปรตีนจากสัตว์น้ำ และสร้างมาตรการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้ประชาชนท้องถิ่นได้มีใช้อย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรอย่างถูกต้องให้กับประชาชน ดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคมปีนี้ โดยจะมีการปล่อยไข่ปลา ปลาแรกฟัก และพ่อแม่พันธุ์ปลา ในพื้นที่ 13 แหล่งน้ำสำคัญ ใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ คาดว่าจะมีปลาเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3 ล้านกก. คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 240 ล้านบาท และจะมีชาวประมงได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3.9 หมื่นคน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image