โควิดทุบเศรษฐกิจ ยอดใช้น้ำมันวูบหนัก

โควิดทุบเศรษฐกิจ ยอดใช้น้ำมันวูบหนัก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ยอดการใช้พลังงานทั่วโลกลดลงต่ำสุด ในรอบ 70 ปี ทั้งปริมาณการใช้น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และการใช้ไฟฟ้า

ขณะที่สถานการณ์การใช้พลังงานในประเทศไทยก็ลดลงถึงขั้นมีโอกาสต่ำสุด เป็นประวัติการณ์เช่นกันนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันครึ่งแรกของปี 2563 (มกราคม-มิถุนายน) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 13.8 โดยกลุ่มเบนซิน ลดลงร้อยละ 7.6 กลุ่มดีเซล ลดลงร้อยละ 4.9 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ ลดลงร้อยละ 49.5 น้ำมันเตา ลดลงร้อยละ 21.9 น้ำมันก๊าด ลดลงร้อยละ 16.8 แอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) ลดลงร้อยละ 16.0 และเอ็นจีวี (ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์) ลดลงร้อยละ 28.4

สาเหตุสำคัญมาจากภาครัฐได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภายหลังภาครัฐได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในหลายระยะ ได้ส่งผลให้ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนหน้า เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว

ไล่เรียงการใช้น้ำมันพลังงานแต่ละชนิด พบว่า กลุ่มเบนซิน มียอดการใช้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 29.7 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 7.6 โดยกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้ลดลง เฉลี่ยอยู่ที่ 28.9 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นร้อยละ 7.2 และน้ำมันเบนซินมีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 0.8 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 21.1

Advertisement

นอกจากนี้ เมื่อลงลึกถึงการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ พบว่าแก๊สโซฮอล์ อี85 มีปริมาณการใช้ลดลงมากที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 0.9 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 29.6 รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.0 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 16.8 และแก๊สโซฮอล์อี 20 มีปริมาณการใช้ลดลงน้อยที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 6.0 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 6.1 ขณะที่แก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 13.9 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

ด้านการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 4.9 โดยน้ำมันดีเซล หมุนเร็วธรรมดา (บี7) มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 46.7 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 27.5 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 11.5 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.9 ล้านลิตร/วัน

โดยสถานการณ์การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ตามนโยบายภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ จึงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

Advertisement

ขณะที่การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 9.9 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 49.5 เพราะอยู่ในช่วงมาตรการที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับการใช้แอลพีจีเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 15.0 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 16.0 โดยปริมาณการใช้ภาคขนส่งลดลงมากที่สุด มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.0 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 30.6 รองลงมาเป็นภาคปิโตรเคมี มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6.0 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 19.3 ถัดมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 10.4 และภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้ลดลงน้อยที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 5.4 ล้าน กก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 6.4

รวมทั้งการใช้เอ็นจีวี เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4.0 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 28.4 เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการรถโดยสารหันไปใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ทดแทน อีกทั้งยังมีนโยบายการปรับราคาขายปลีกเอ็นจีวี สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปเพื่อสะท้อนต้นทุน จึงทำให้ราคาเอ็นจีวีปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ หรือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วแทน

ส่องตัวเลขการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงภาพรวม น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะมีปริมาณรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

โดยมียอดนำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ 918,547 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 9.5 มีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 893,508 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 4.3 คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 40,269 ล้านบาท/เดือน เนื่องจากในเดือนมิถุนายน 2563 ยังคงอยู่ในช่วงหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลง ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงไปด้วย

ด้านการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป แบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และแอลพีจี พบว่า มีปริมาณนำเข้าลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 25,039 บาร์เรล/วัน ลดลง ร้อยละ 69.4 คิดเป็นมูลค่านำเข้าเฉลี่ย รวม 1,253 ล้านบาท/เดือน

ขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าด และแอลพีจี มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 203,647 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวมเฉลี่ย 8,891 ล้านบาท/เดือน

“ธพ.ได้คาดการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปี 2563 คาดว่าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 143.59 ล้านลิตรต่อวัน ปรับตัวลดลง 8.7% เมื่อเทียบกับปี 2562 การใช้อยู่ที่ 157.33 ล้านลิตรต่อวัน ถือเป็นยอดใช้ที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามทิศทางการประเมินธุรกิจของผู้ค้าน้ำมันในประเทศที่คาดว่าการใช้จะปรับตัวลดลงจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 จากเดิม ธพ.ได้ประเมินไว้ว่าปี 2563 การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะโต 2-3% แต่พบว่าโควิด-19 มีผลกระทบ อย่างมากต่อภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้การใช้ลดลงมาก” นันธิกากล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image