‘ธปท.’ ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 ติดลบลึกสุดเป็นประวัติศาสตร์ เชื่อผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

‘ธปท.’ ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 ติดลบลึกสุดเป็นประวัติศาสตร์ เชื่อผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2/2563 ภาพรวมรวมเศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหดตัวน้อยลงเกือบทุกรายการ อาทิ การส่งออกไม่รวมทองคำ ติดลบ 18.4% ลดลงจากเดือนพฤษภาคม ที่ระดับ 21.4% การบริโภคภาคเอกชน ติดลบ 4.7% ลดลงจากเดือนพฤษภาคม ที่ระดับ 11.5% แต่หากมองเศรษฐกิจไทยทั้งไตรมาส 2 ยังติดลบในระดับที่ลึกมาก โดยคาดว่าจะหดตัวสูงเป็นตัวเลข 2 หลักต้นๆ สาเหตุเพราะผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ติดลบ 100% และยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวด้วย

“ตัวเลขเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจยังหดตัวในระดับสูง หากเทียบกับภาวะปกติ แม้จะหดตัวลดลงเกือบทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่หดตัวลงลึก จึงคาดว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา น่าจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวลึกที่สุดในประวัติศาสตร์ เทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2541 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้น ส่งผลให้จีดีพีติดลบ 12.5% โดยมองว่า จีดีพีไตรมาส 2 นี้มีโอกาสติดลบมากกว่าระดับดังกล่าว เพราะมาตรการล็อกดาวน์ทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อเครื่องชี้เศรษฐกิจทุกตัว การส่งออก การนำเข้า การลงทุน การบริโภค ที่ติดลบทั้งหมด มีเพียงภาครัฐที่ยังขยายตัวได้เท่านั้น โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้เป็นปกติ เหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ต้องรอไปถึงปลายปี 2565” นายดอนกล่าว

นายดอนกล่าวว่า ในระยะถัดไปรัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ เพราะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งในส่วนการเยียวยา และการฟื้นฟูยังต้องใช้เวลาอีกนาน ทำให้งบประมาณที่มีอยู่ จะต้องใช้ให้ถูกจุดและทันการ โดยธปท.จะประเมินสถานการณ์เพื่อปรับประมาณการจีดีพีอีกครั้ง จากที่คาดว่าทั้งปี 2563 จะติดลบ 8.1% และรอการรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ หากดีกว่าที่คาดไว้ อาจปรับประมาณการจีดีพีขึ้น แต่หากไม่ดีมากนัก ก็อาจปรับลดลง

นายดอนกล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2563 การใช้จ่ายปรับดีขึ้นในทุกหมวด เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น ในส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงเล็กน้อย ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ ยอดจดทะเบียนรถยนต์และการนำเข้าสินค้าทุน แต่หากเทียบภาวะปกติยังหดตัวสูง สอดคล้องกับอุปสงค์ในและต่างประเทศที่อ่อนแอ กำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังอยู่ในระดับสูง และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่แม้ปรับดีขึ้นบ้างแต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ

Advertisement

นายดอนกล่าวว่า สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้ดี แม้ยังไม่นับรวมเงินโอนในมาตรการเราคนไทยไม่ทิ้งกัน ซึ่งเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ในส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบต่อเนื่อง แม้จะน้อยลงบ้าง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบเล็กน้อย สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้สมดุล ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิ ทั้งด้านสินทรัพย์จากการขายสุทธิตราสารหนี้ และการถอนเงินฝากในต่างประเทศของนักลงทุนไทย และด้านหนี้สินจากการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังเห็นตลาดแรงงานที่มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแบบไม่น่าไว้วางใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image