คิดเห็นแชร์ : ไร้โควิด-19 ธุรกิจโลจิสติกส์ ยังก้าวไกลต่อเนื่อง

คิดเห็นแชร์ : ไร้โควิด-19 ธุรกิจโลจิสติกส์ ยังก้าวไกลต่อเนื่อง

คิดเห็นแชร์ : ไร้โควิด-19 ธุรกิจโลจิสติกส์ ยังก้าวไกลต่อเนื่อง

สวัสดีค่ะ วันนี้ดิฉันขอนำเสนอเรื่อง ธุรกิจโลจิสติกส์กับโลกยุคโควิด เพราะโลจิสติกส์เป็นธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่ยังสามารถขยายตัวได้ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ดิฉันเชื่อว่าจะเป็นธุรกิจที่ยังเดินหน้าได้ต่อไป แม้ว่าโควิดจะยังอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่งค่ะ

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันคร่าวๆ ก่อนว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ครอบคลุมกิจกรรมอะไรบ้างนะคะ โลจิสติกส์นับเป็นการบริการประเภทหนึ่ง (logistics services) ที่เป็นการบริหารจัดการการขนส่งสินค้าทั้งทางอากาศ ทางน้ำ (ทะเล แม่น้ำ) ทางบก (ถนน ทางราง) ทางท่อ การส่งไปรษณีย์และการรับส่งเอกสารและสิ่งของ ธุรกิจคลังสินค้าและกิจกรรมสนับสนุน การรับจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจตัวแทนออกของ (ชิปปิ้ง) พิธีการศุลกากร และการบริหารคลังสินค้าที่ท่าเรือท่าอากาศยาน

จนเดี๋ยวนี้พี่วินมอเตอร์ไซค์หน้าบ้านเรา หรือรถส่งของส่งอาหารที่วิ่งกันขวักไขว่ นับว่าอยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจโลจิสติกส์เช่นกัน เพราะเป็นผู้ส่งของให้ถึงบ้านเรานั่นเอง (last mile delivery) ท่านจะเห็นว่า กิจกรรมโลจิสติกส์มีขอบเขตกว้างขวางมาก และครอบคลุมทั้งการค้าในประเทศ และการค้าระหว่างประเทศ

Advertisement

ด้วยความที่ธุรกิจโลจิสติกส์จริงๆ มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย การวัดขนาดทางเศรษฐกิจที่ถูกต้องจึงยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน หากเราดูจากสถิติของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ภาคบริการโลจิสติกส์ประมาณ 5.8% ของ GDP ประเทศไทย (at current market price) (เฉพาะการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเท่านั้น ไม่รวมบริการเกี่ยวเนื่องอื่นๆ) นับเป็นภาคบริการสำคัญอันดับ 3 นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการขนาดเล็กและใหญ่จำนวนมาก ปัจจุบันบริษัทข้ามชาติหลายราย เป็นที่รู้จักก็ในช่วงล็อกดาวน์จากโควิดนั่นเอง

จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการขนส่งทางบกและทางอากาศลดลง 4.2% และ 20.8% ตามลำดับ ปัจจัยจากปริมาณขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมลดลง การขนผู้โดยสารก็ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวหายไป ขนส่งทางน้ำขยายตัวลดลงเช่นกัน ขณะที่ธุรกิจที่เติบโตสวนทาง คือ รับส่งเอกสารและสิ่งของ ขยายตัวตามการสั่งสินค้าผ่านออนไลน์และสื่อโซเชียลต่างๆ การอยู่บ้านรับมือโควิดมีส่วนสำคัญทำให้การส่งสินค้าขนาดเล็กเพิ่มความสำคัญขึ้นอย่างมาก

ในช่วงแรกของการปิดเมืองล็อกดาวน์ในไทยและในประเทศต่างๆ ทำให้การขนส่งสินค้าข้ามจังหวัดและข้ามประเทศได้รับผลกระทบบ้าง แต่หลังจากทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันกำหนดแนวทางการผ่อนปรนการขนส่งสินค้าช่วงเคอร์ฟิว และหารือกับประเทศคู่ค้าเปิดด่านเพิ่มเติม รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภครูปแบบใหม่ที่สั่งสินค้าไปส่งบ้านข้างต้น ทั้งหมดนี้ ทำให้การขนส่งและธุรกิจโลจิสติกส์กลับมาขยับขยายได้อีกครั้ง เพราะช่วงโควิดอย่างไรเสียทุกคนต้องกินต้องใช้ การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคให้ถึงมือผู้บริโภคได้จึงสำคัญ จากการมาของโควิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เช่น

การปรับโมเดลธุรกิจสู่ B2C (Business to Customer) ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็น New normal ของธุรกิจโลจิสติกส์ที่ในอดีตอาจจะเน้นเรื่อง B2B (Business to Business) การที่จะปรับมาเป็น B2C นั้นต้องใช้งบลงทุนทั้งด้านเทคโนโลยี การพัฒนาคน และการขยายเครือข่ายการขนส่งรูปแบบต่างๆ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์จึงควรต้องเร่งหาพาร์ตเนอร์ ขยายเครือข่ายในการประกอบธุรกิจต่อไป

มาตรการสุขอนามัยในการขนส่งสินค้าจะเคร่งครัดมากขึ้น ทั้งการขนส่งในประเทศ และระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต้องมีการรับรองสุขอนามัยของพนักงานที่เกี่ยวข้อง การทำความสะอาดพาหนะที่ใช้ขนส่งบ่อยครั้ง หรือหากเป็นระหว่างประเทศ ก็อาจต้องมีใบรับรองสุขอนามัยที่เข้มงวดขึ้น จุดผ่านแดนของสินค้าและคนกับประเทศเพื่อนบ้านจะมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น ต้องมีการจัดทำระบบการรับรองตนเอง (self-certification) ปรับเปลี่ยนตารางการเดินรถ ทำระบบติดตาม (tracking) เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ แต่ก็จำเป็นต้องทำ

การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เน้นความสะดวกประหยัดเวลา ทำให้ปริมาณการค้าออนไลน์ขยายตัวมากขึ้น ผู้ใช้บริการหันมาใช้ธุรกิจบริการดิจิทัล ทำให้กิจกรรมการกระจายสินค้ามีบทบาทสำคัญ และส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจรับส่งพัสดุด่วน และธุรกิจขนส่งอาหารขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยบริษัท Priceza ที่เป็นแพลตฟอร์มค้นหาสินค้ารายใหญ่ของไทยประเมินว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2020 นี้ จะเติบโตขึ้นร้อยละ 35 หรือมีมูลค่า 220,000 ล้านบาท โดยสินค้าที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่สนใจอยู่ในกลุ่มสุขภาพและความงาม (หน้ากาก แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือ) สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน (น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ทิชชูเปียก ข้าว สุรา) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องกรองอากาศ เครื่องดูดฝุ่น หม้อทอดไร้น้ำมัน)

ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าแบบปลีกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องส่งสินค้าที่มีขนาดเล็กลง แต่มีปริมาณ/จำนวนพัสดุเพิ่มขึ้น

การบริหารสินค้าคงคลังต้องปรับตามความต้องการของผู้บริโภคด้วย เพราะปัจจุบันแข่งกันที่ส่งของได้เร็ว จึงอาจไม่ต้องมีของในสต๊อกมากแต่ต้องตอบสนองคำสั่งซื้อได้เร็ว นอกจากนี้ต้องคิดค้นหาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับประเภทของสินค้า เช่น ผลไม้ต้องบรรจุหีบห่อแบบระมัดระวังมากกว่าอาหารแห้ง

การปรับเปลี่ยนเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า จนถึงเดือนเมษายน 2563 ปริมาณการใช้ e-payment ในไทยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 49 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2559 เพิ่มเป็น 151 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2563 ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านค้าทั้งหลายควรปรับตัวโดยพัฒนาระบบรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค

ในส่วนของภาครัฐ ควรเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นหลัก มีมาตรการและแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการโลจิสติกส์ เพื่อให้สามารถรองรับ ปรับตัว และส่งเสริมให้ธุรกิจโลจิสติกส์ขยายได้ทั้งช่วงนี้และหลังโควิด เช่น

ช่วยเหลือสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่เป็น SME ซึ่งมีจำนวนหลายหมื่น เพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้ต่อไป เพราะไทยจำเป็นต้องมีระบบการขนส่งกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อมิให้เกิดปัญหาในช่วงโควิด และยังช่วยในด้านการส่งออกอีกด้วย เพราะไทยสามารถใช้จุดแข็งในการเป็นศูนย์กลางของ CLMVT และเป็นจุดเชื่อมต่อกับตลาดใหญ่เช่นจีนและอินเดียได้

อาจพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์มากขึ้น เช่น อาจจะกำหนดเขตปลอดอากร (Free Zone) เพื่อให้มีการขนส่งและกระจายสินค้าได้ง่ายขึ้นสะดวกขึ้น

ส่งเสริมการจัดเก็บข้อมูลธุรกิจโลจิสติกส์อย่างเป็นเอกภาพ เพื่อให้เห็นภาพรวมและศักยภาพของธุรกิจโลจิสติกส์ และเพื่อให้สามารถส่งเสริมและช่วยเหลือได้ตรงจุดต่อไปในอนาคต ซึ่งในส่วนนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กำลังดำเนินการอยู่โดยเน้นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าก่อน ไม่ได้เน้นการขนส่ง

เร่งผลักดันการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงผู้ซื้อผู้ขายในไทยเองและกับต่างประเทศด้วย เพราะแม้ว่าปัจจุบันจะมีแพลตฟอร์มต่างประเทศใหญ่ๆ อยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการไทยยังอาจจะเข้าถึงยากเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งหากรัฐร่วมกับเอกชนพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลให้คนไทยได้ ก็จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเกษตรกรและ SME ไทยให้เข้าถึงการใช้เทคโนโลยีมาช่วยค้าขายได้ และเป็นพื้นฐานให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (logistics hub) ในภูมิภาคนี้ได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคงต่อไปในโลกหลังยุคโควิด

อีกหลายเรื่องที่จะนำเสนอในครั้งต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image