เฉลียงไอเดีย : ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ ฝันไกลสร้างชื่อ ‘คีนน์’ ดังระดับโลก

เฉลียงไอเดีย : ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ ฝันไกลสร้างชื่อ ‘คีนน์’ ดังระดับโลก

ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์
ปั้นงานวิจัยสู่ธุรกิจนวัตกรรมไทย
ขอฝันไกลสร้างชื่อ ‘คีนน์’ ดังระดับโลก

เคยได้ยินบ่อยครั้งเรื่อง “วิทยานิพนธ์เก็บไว้บนหิ้ง” ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

แต่ไม่ใช่สำหรับคนนี้ ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท คีนน์ จำกัด และนายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย หรือ ThaiBIO ที่นำวิทยานิพนธ์ของตัวเองมาใช้ต่อยอดธุรกิจ จนสร้างชื่อแบรนด์ “คีนน์” (KEEEN) ให้เป็นที่รู้จัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ “คีนน์” ยิ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้นในฐานะผลิตภัณฑ์ชีวบำบัด ช่วยกำจัดเชื้อไวรัส, แบคทีเรีย “เหตุการณ์โควิด ทำให้คนไทยเริ่มรู้จัก “คีนน์” จากกรณีที่คนไทย-นักศึกษาคนไทยในเมืองอู่ฮั่นเดินทางกลับประเทศ ต้องโดนกักตัวเป็นเวลา 14 วันในสถานที่ๆรัฐบาลจัดเตรียมไว้ให้คือที่อู่ตะเภา โดยคีนน์เป็นผู้ดำเนินการฆ่าเชื้อให้” ดร.วสันต์ย้อนความเล่าที่มาให้ฟัง

Advertisement

คีนน์ มาจากภาษาญี่ปุ่น ออกเสียงว่า “คิม” แปลว่า ทองคำ หรือ “กิม” ภาษาจีน ซึ่งพ้องเสียง “Keen” ที่แปลว่า กระตือรือร้น ตั้งใจ แน่วแน่ ดูแล เอาใจใส่ ด้วยเพราะ ดร.วสันต์วางธุรกิจให้มีมูลค่าสูง มีคุณค่าดุจดั่งทองคำ ซึ่งนอกจากใช้ชื่อบริษัทที่สื่อถึงจุดยืนของแบรนด์แล้ว ยังใช้โลโก้ที่สื่อถึงความตั้งใจของบริษัทอีกด้วย “ผมต้องการสื่อถึง Protector เราเป็น Gladiator เราคือผู้พิทักษ์ จึงทำโลโก้เป็นรูปโล่ ใส่อักษร KEEEN อยู่ภายในโล่ ใต้โล่มีรูปเป็นรอยยิ้ม แสดงถึงความเป็นมิตร ใช้สีเขียวเทอร์ควอยซ์ เป็นสีเขียวอมน้ำเงินซึ่งจะเจอเฉพาะทะเลลึก ผมวางจริตแบรนด์คือธุรกิจในพื้นที่ๆ ยังไม่เคยมีใครเข้าไปก่อน นั่นคือ Innovation ซึ่งเป็นแนวคิดเมื่อ 10 ปีก่อนที่เมืองไทยยังไม่ค่อยรู้จักคำนี้ แม้แต่ตัวผมเอง แต่ที่ทำคือ Passion อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีสินค้าของตัวเอง”

“คีนน์” ไม่ใช่บริษัทแรกที่ ดร.วสันต์ก่อตั้งขึ้น แต่มีแล้วถึง 2 บริษัท ด้วยเพราะ ดร.วสันต์คุ้นเคยกับการค้าขายมาตั้งแต่เด็ก จากที่เป็นลูกคนจีน พ่อ-แม่เปิดร้านค้าขายแถวท่าเรือคลองเตย จึงคุ้นชินและรักในการค้าขาย เริ่มต้นขายของตั้งแต่อายุ 12 ปี พออายุ 25 ปีก็เป็นเจ้าของธุรกิจ หลังเรียนจบปริญญาตรี สาขาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งชื่อบริษัทแรกว่า “ไฮกริม” (แปลว่า ทะเลทองคำ) ทำธุรกิจเทรดดิ้งเวชภัณฑ์และยา ซึ่งเป็นธุรกิจใกล้ตัวด้วยสาขาที่เรียนจบมาและเป็นธุรกิจที่ญาติทางแม่ทำอยู่ “ทำอยู่ 7-8 ปี จนส่งออกไปลาว-เขมร-พม่า แต่เริ่มรู้สึกไม่ท้าทาย และรู้สึกว่าไม่ได้ขายตัวสินค้า แต่ขายคอนเน็กชั่น ประกอบกับเริ่มมีรายอื่นๆ ทำธุรกิจแข่งขันกันมากขึ้น จึงรู้สึกว่าธุรกิจไม่ยั่งยืน เพราะเราไม่มีสินค้าของเราเอง จึงตัดสินใจไปเรียนเพิ่มเติมระดับปริญญาโท หลักสูตรอินเตอร์เนชั่นแนล สาขานิเวศวิทยาอุตสาหกรรม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะเห็นเทรนด์จากที่ทำธุรกิจกับโรงงานอุตสาหกรรม การรักษาสิ่งแวดล้อมกำลังมาแล้ว”

และนี่แหละ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “คีนน์” ถือกำเนิดขึ้น

ดร.วสันต์เลือกทำวิทยานิพนธ์ว่าด้วยเรื่องจุรินทรีย์ย่อยสลายน้ำมันปิโตรเลียม เพราะเริ่มสนใจเรื่องไบโอเทคโนโลยีที่ประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ ถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเมืองไทยขณะนั้น “ผมหาอาจารย์ที่ปรึกษาแทบไม่ได้เลย เปลี่ยนอาจารย์ทั้งหมด 4 คน เพราะไม่มีใครถนัดเรื่องนี้ กระทั่งเจออาจารย์ท่านหนึ่งจบปิโตรเคมี สนใจเรื่องนี้เช่นกัน”

หลังจากนั้น ดร.วสันต์ได้ติดต่อสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เพื่อจ้างวิจัยหรือจ้างผลิตสินค้าทำขายในเชิงพาณิชย์ แต่ สวทช.ให้ความสนใจชิ้นงาน ให้การสนับสนุนโดยทำวิจัยร่วมกัน จนสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ แต่ยังใช้ไม่ได้เพราะต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลว แต่ที่ผลิตได้กลายเป็นของแข็ง ก็ต้องช่วยกันวิจัย ปรับแก้สูตรต่างๆ ใช้เวลาพัฒนาอยู่ 4 ปี จนกลายเป็นของเหลวได้สำเร็จ กลายเป็น “คีนน์” ที่กำลังแตกหน่อจากผลิตภัณฑ์ไบโอเทคโนโลยีเพื่อการบำบัดของเสีย ขจัดคราบน้ำมัน โดยไม่ใช้สารเคมี ทำธุรกิจ B2B กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม สู่ “Life Science” (ชีววิทยาศาสตร์) ดันธุรกิจเข้าสู่ Consumer (ผู้บริโภค) ซึ่งวางแผนจะเปิดตัวสินค้าครัวเรือนด้าน Cleaner ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา บังเอิญเกิดโควิด-19 ขึ้นก่อน ก็เป็นจังหวะที่ผู้บริโภคมีความต้องการพอดี

ถาม ดร.วสันต์ว่าการเริ่มทำธุรกิจที่ใหม่มาก ตลาดคนไทยยังไม่รู้จัก จะเสี่ยงเกินไปหรือไม่ ดร.วสันต์กล่าวสรุปจากสิ่งที่กล่าวมาว่า “เราคิดจากจุดเล็กๆ ก่อน ในตอนที่ทำ เริ่มจาก Passion คืออยากมีสินค้าตัวเอง จากนั้นก็เรียนต่อเพื่อหาโอกาสให้ตัวเอง ศึกษาเพิ่มเติมให้รู้จริง แล้วจึงลงมือทำเป็นธุรกิจ”

ถามถึงอุบัติการณ์โควิด-19 ที่ส่วนใหญ่มองเป็นวิกฤต ดร.วสันต์บอกว่า เมื่อโอกาสมาต้องรู้จักฉวย อย่างโควิด ถ้ามองเป็นวิกฤตก็จบ แต่ถ้ามองเป็นโอกาสก็ไปต่อได้ “มีคำๆ หนึ่งเขียนไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “ในทุกวิกฤตมีโอกาสใหม่เสมอ (ถ้าใจยังสู้) แต่ผมขอเพิ่มว่า ในทุกวิกฤตมีโอกาสใหม่ที่ใหญ่กว่าเสมอ”

เป็นประโยคที่ใช้ได้เสมอไม่ว่าจะเจอวิกฤตการณ์ใดๆ ก็ตาม

และไม่แปลกใจเลย สำหรับผู้ชายคนนี้ ดร.วสันต์ไม่หยุดนิ่งความสำเร็จ “คีนน์” เพียงแค่นี้ เขาบอกว่าได้วางโรดแมป จะโตในกลุ่มโลกใบใหม่ เป็น Solution เรื่องของ Green Hygienic มีสินค้าและบริการเกี่ยวกับ Life Science เพื่อตอบโจทย์คำว่า Sustainability ยั่งยืนทั้งส่วนที่เป็นของตัวเอง ส่วนของบริษัท-องค์กร และส่วนสังคม

และที่ตั้งใจไว้เพื่อไปให้ถึง ขอสร้าง “คีนน์” เป็นสินค้าคนไทยในระดับโลก เหมือนเวลาพูดถึง “หัวเว่ย” หมายถึงจีน “ซัมซุง” คือ “เกาหลี”

เกษมณี นันทรัตนพงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image