ททท.หัวฟูดึงนักเที่ยวต่างชาติ 9 ล้านคน ลุ้นเปิดบินตุลาฯ เล็งให้บินตรงภูเก็ต แล้วกักตัวในโรงแรม

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง ไทยพร้อมแล้วกับการท่องเที่ยววิถีใหม่ ในงานสัมมนา ปลุกไทยเที่ยวไทย ปลุกเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้า จัดโดย หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานครว่า การจัดการสถานการณ์ด้านสาธารณสุขประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนภาพรวมสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ขณะนี้เริ่มเห็นการกลับมาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ในแง่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบอยู่ ในช่วง 6 เดือนแรกหรือตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน ยังไม่พบการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือมีจำนวนอยู่ที่ 6.69 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 ประมาณ ลบ 66% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยมีแนวโน้มที่ดี พบว่าในช่วง 6 เดือนแรก หรือตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน มีนักท่องเที่ยวสะสมรวม 54.5 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอีก

“ส่วนการคาดการณ์รายได้ด้านการท่องเที่ยวปีนี้คาดว่าจะจบรายได้ที่ 1.23 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขเดียวกับที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประมาณการไว้ หากประเมินในกรณีเลวร้ายที่สุด แต่ยังสามารถดึงนักท่องเที่ยวไทยให้กลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้จำนวนมาก ปัจจุบันไทยยังไม่สามารถเปิดประเทศในนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ จากปัญหาดังกล่าวคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2563 การที่จะดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาอีก 4 แสนคน จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ยาก จึงคาดว่าในปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งปีจะสิ้นสุดแค่เพียง 7 ล้านคน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 9 ล้านคน แต่ถ้ามีการคลายล็อกในส่วนนี้เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอยู่ที่ 9 ล้านคนตามเป้าได้” น.ส.ฐาปนีย์กล่าว

น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มคลายล็อกให้ทำกิจกรรมในหลายด้านมากขึ้นแล้ว อาทิ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และธุรกิจการจัดงานสัมมนาขององค์กร หรือไมซ์ เป็นต้น แต่สิ่งที่สำคัญต้องทำให้ทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจ ในเรื่องของการกักตัวต้องมีการควบคุมอย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจและสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไป แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา แต่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมความพร้อม และคาดว่าจะมีชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐ หรือไทยแลนด์ อีลิท การ์ด เดินทางเข้ามาจำนวน 200 คน กว่า 80% เป็นการขอเข้ามาเพื่อติดต่อธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนที่เหลือมีครอบครัวอยู่ที่ประเทศไทยขณะนี้ ททท.ได้เริ่มพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมในกรุงเทพฯ ต้องผันตัวมาเป็นโรงแรมกักตัวทางเลือก (เอเอสคิว) บนพื้นฐานความปลอดภัย

น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า จากความต้องการเรื่องเอเอสคิวมีมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันหลายโรงแรมเริ่มสมัครเข้าไปกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มากขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการโรงแรมที่อยู่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ เริ่มมีความสนใจจะเป็นเอเอสคิว เช่นเดียวกันกับต่างจังหวัดเริ่มมีการปรับตัวเปลี่ยนมาเป็นเอเอสคิวมากขึ้น อาทิ จังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการด้านการบินว่าในอนาคตอาจจะต้องมีการเปิดเที่ยวบินแบบบินตรงไปจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำนักท่องเที่ยวไปสู่ที่พักที่เป็นเอเอสคิวต่อไป คาดว่าในเดือนตุลาคม 2563 มีการปลดล็อกในเรื่องของการเดินทางเข้าประเทศ ไทยจะได้เห็นแสงสว่างเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้นอีกด้วย

Advertisement

น.ส.ฐาปนีย์กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินงานของ ททท. ปี 2563 แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เตรียมความพร้อมซ่อมสร้างอุปทานส่งสารให้คิดถึง ระยะที่ 2 เร่งท่องเที่ยวในประเทศเปิดเมืองเปิดประเทศอย่างจำกัดสำหรับต่างชาติ และระยะที่ 3 เปิดเมืองเปิดประเทศ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่วนในเรื่องของเส้นทางเชื่อมกลยุทธ์ก่อน ระหว่างและหลังโควิด-19 ประกอบด้วย รีบิวด์, รีบาลานซ์, รีเฟรช, รีบูท, รีบอร์น และเน้นเรื่องตลาดต่างประเทศที่ตอนนี้ถึงแม้จะยังไม่มีการเปิดประเทศ แต่ ททท.ก็ได้มีการวางแผนรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว

น.ส.ฐาปนีย์กล่าวว่า ส่วนการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่นั้น ขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (เอสเอชเอ) เป็นบรรทัดฐานสร้างความมั่นใจถึงความปลอดภัยในการใช้บริการ โดยการกำหนดแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย กิน พัก เที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ครอบคลุม 10 ประเภทกิจการ อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม ร้านนวดเพื่อสุขภาพ และสถานเสริมความงาม เป็นต้น

น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับตราสัญลักษณ์เอสเอชเอ จะได้รับการโปรโมตจาก ททท. ทั้งในไทยและต่างประเทศถึงการให้บริการที่มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด การสร้างมาตฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration (เอสเอชเอ) จะทำให้คนไทยมีความมั่นใจในการใช้จ่ายและเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหลังรัฐบาลอนุญาตให้เดินทางเที่ยวได้ สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศจะกลับมาได้ก็ต่อเมื่อนักท่องเที่ยวมั่นใจในสถานประกอบการ ดังนั้นมาตรฐานเอสเอชเอจึงเป็นโอกาสดีที่ ททท.จะได้นำเสนอสินค้าและการบริการที่มีมาตรฐานของประเทศไทยให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศกว่า 10 ล้านคนต่อปี ให้หันกลับมาท่องเที่ยวภายในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่ง ททท.เชื่อมั่นว่าจำนวนผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจตามมาตรฐานเอสเอชเอกว่า 4,000 ราย ในขณะนี้ จะเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อมั่น และความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่จะเลือกที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image