‘กกร.’​จุกเศรษฐกิจไทยอ่อนแอมาก คาดจีดีพีปีนี้รูด -9%

‘กกร.’​ จุกเศรษฐกิจไทยอ่อนแอมาก คาดจีดีพี ปี’63 ติดลบหนักสุด 9% โควิดปัจจัยสำคัญฉุดหดตัวต่อเนื่อง

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาฟหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุม กกร.มีมติปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ลงมาเป็นติดลบ 9% ถึงติดลบ 7% จากเดิมคาดไว้ติดลบ 8% ถึงติดลบ 5% และการส่งออกลงมาที่ติดลบ 12% ถึง ติดลบ 10% จากเดิมคาดไว้ติดลบ 10% ถึง ติดลบ 7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงคาดการณ์ ไว้ตามเดิมที่ติดลบ 1.5% ถึง ติดลบ 1%

ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 2563 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงฉุดหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยหลังการระบาดของโควิดยังเพิ่มสูงขึ้นและบางประเทศพบจำนวนผู้ติดเชื้อรอบใหม่ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ฮ่องกง เป็นต้น ส่งผลให้การค้าและการเดินทางระหว่างประเทศคงยากที่จะฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว อีกทั้งเงินบาทที่ผันผวนและเริ่มมีทิศทางแข็งค่ายังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ประกอบกับกำลังซื้อครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับความไม่แน่นอนในตลาดการจ้างงาน ยังเป็นปัจจัยลบที่กดดันการใช้จ่ายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

“แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนมิ.ย.2563 จะหดตัวน้อยลง แต่เศรษฐกิจไทยโดยรวมก็ยังอ่อนแออยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภายในประเทศ เห็นได้จากไตรมาส 2/2563 ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยคงจะหดตัวในอัตราเลขสองหลัก กกร.จึงมีความเป็นห่วงเศรษฐกิจไทยในช่วงข้างหน้าที่ยังขาดแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจและสังคมจากภาครัฐกำลังจะสิ้นสุดลง และสถานการณ์การจ้างงานก็ยังเปราะบาง” นายกลินท์ กล่าว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในส่วนของการตั้งคณะทำงานภาคเอกชน โดยที่ประชุมกกร.ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)​ และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เพื่อร่วมกันจัดเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยจะมีการผลักดันแผน 4 เรื่องเพื่อให้เกิดผลได้จริง ได้แก่ 1.การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิง Wellness 2.การยกระดับการเกษตรมูลค่าสูง 3.การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในธุรกิจเป้าหมาย และ 4.การยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาค

Advertisement

นายสุพันธุ์ กล่าวต่อว่า เมื่อได้ข้อสรุปแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว จะนำไปหารือและเสนอให้มีมาตรการช่วยเหลือจากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ทางภาคเอกชนอยากเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานที่มีรูปแบบเดียวกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. โดยต้องการให้ดึงภาคเอกชนเข้าไปทำงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ​ร่วมกันอีกด้วย ซึ่งคณะทำงานฯ ดังกล่าวนี้ควรรีบจัดตั้งโดยเร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image