เงินเฟ้อ ก.ค. 63 ติดลบน้อยลง สะท้อนภาวะเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ใช่ขาขึ้น

เงินเฟ้อ ก.ค. 63 ติดลบน้อยลง สะท้อนภาวะเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ใช่ขาขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกรกฎาคม 2563 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือเงินเฟ้อ เดือนกรกฎาคม 2563 เท่ากับ101.99 ลดลง 0.98% หากเทียบกับเดือนเดียวกันปี 2563 แต่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการหดตัวลงกว่า 1.57% หากเทียบกับช่วงเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุสำคัญจาก 1.ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นและเริ่มทรงตัว ส่งผลให้อัตราการหดตัวของราคาพลังงานในเดือนนี้ลดลง 2.อาหารสดกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 3 เดือน ตามความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น หลังจากมีการคลายล็อกดาวน์ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ การเปิดภาคเรียนใหม่ รวมถึงสินค้าอาหารสด อาทิ เนื้อหมู มีความต้องการจากฝั่งส่งออก มีการส่งออกมากขึ้น จึงดึงราคาในประเทศขึ้นมาบ้าง ซึ่งยังดูแลอย่างใกล้ชิดและราคายังไม่ถือว่าปรับขึ้นมาสูงมากเกินไป 3.มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ประปา ได้สิ้นสุดลง ทำให้เดือนกรกฎาคม ราคาบริการเหล่านี้จึงปรับขึ้นมาเป็นปกติ และ 4.การจัดโปรโมชั่นด้านราคาสินค้า และบริการของผู้ประกอบการ อาทิ ซื้อ 1 แถม 1 เริ่มลดน้อยลง แต่ยังไม่พบการฉวยโอกาสขึ้นราคาแต่อย่างใด

ดัชนีทุกตัวของเดือนกรกฎาคม ได้ชี้ให้เห็นว่าสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับสู่การฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยหากประเมินจากดัชนีเทียบกับเดือนมิถุนายน ระดับดัชนีเป็นบวกทุกตัว ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่หดตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของปี 2563 เพราะธุรกิจก่อสร้างในส่วนของอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัวมากพอสมควร โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์แนวราบ จึงสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่ใช้เศรษฐกิจขาขึ้น เพราะคงไม่ได้ฟื้นรวดเร็วมากนัก แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากหดตัวในช่วงที่ผ่านมานางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า การปรับตัวดีขึ้นของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองนั้น สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์และรถยนต์เชิงพาณิชย์ ชี้ว่าปัจจัยด้านอุปสงค์ในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญของการปรับตัวดีขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้อย่างมีนัยสำคัญด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.39% และเฉลี่ย 7 เดือน (มกราคมกรกฎาคม) ปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไป ลดลง  1.11% และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.34%

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือน สิงหาคม 2563 ประเมินจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น มาตรการภาครัฐที่เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว คาดว่าจะทำให้เงินเฟ้อในเดือน สิงหาคมนี้ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ยังสร้างความผันผวนให้กับราคาพลังงานโลก และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่ไม่อาจไว้วางใจได้ และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีนี้ไว้ที่ ลบ 1.5 ถึง ลบ 0.7% ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือนอยู่ที่ค่ากลาง 1.1% โดยเชื่อว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2563 จะคงอยู่ในแดนลบแน่นอน แต่เชื่อว่าไม่ได้เข้าเงื่อนไขครบทั้งหมดที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image