ชิ้นส่วนหนีตายยอดขายหดเกือบ100% หันผลิตป้อนระบบราง-เครื่องบิน-เครื่องมือแพทย์

ชิ้นส่วนหนีตายยอดขายหดเกือบ100% หันผลิตป้อนระบบราง-อากาศยาน-เครื่องมือแพทย์ วอนรัฐช่วยเข้าถึงซอฟท์โลน-จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คาดว่าซับคอน-อินเตอร์แมคสร้างจับคู่ธุรกิจไทย-ต่างชาติ4,000คู่ มูลค่า7,000คู่

นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เปิดเผยในงานแถลงข่าวการจัดงาน ซับคอนไทยแลนด์ คู่ขนาน งานอินเตอร์แมค งานแสดงสินค้าภาคอุตสาหกรรมแบบครบวงจรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตพร้อมจับคู่ธุรกิจระหว่างเอกชนไทยและต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 23-26 กันยายน ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยที่อยู่ภายใต้สมาคมฯ ประมาณ 500 บริษัท แรงงานประมาณ 50,000 คน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ยอดคำสั่งซื้อลดลงเกือบ 100% เนื่องจากส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนยายนต์ซึ่งที่ผ่านมาหลายโรงงานต่างหยุดผลิตชั่วคราว อาทิ โตโยต้า นิสสัน จนส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ปลดคนงานแต่เลือกจ่ายค่าแรง 75% หรือตามตกลง ทำให้อุตสาหกรรมยังเดินต่อไปได้

นายเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสมาคมฯได้เล็งเห็นถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ของโลก จึงผลักดันให้ผู้ประกอบการหันผลิตสินค้าป้อนอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆผลิตอุปกรณ์ป้องกันโควิด อุตสาหกรรมระบบราง ร่วมกับบริษัทโชคนำชัย ผู้ผลิตรถไฟ รถบัสอีวี เรือยอชท์ อุตสาหกรรมอากาศยานร่วมกับ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินป้อนกองทัพอากาศ ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านการเข้าถึงสินเชื่อซอฟท์โลนต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนให้เอสเอ็มอีผู้ผลิตชิ้นส่วนมีส่วนในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพราะเอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพแม้ราคาจะแพงกว่าต่างชาติแต่เงินจะอยู่ในประเทศ สร้างการหมุนเวียนให้ระบบเศรษฐกิจ

น.ส.ซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่า บีไอไอจัดงานซับคอนไทยแลนด์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยและต่างชาติได้ซื้อขายสินค้าอุตสาหกรรมและจับคู่ธุรกิจระหว่างกัน โดยครั้งนี้จะนำออนไลน์เข้ามาใช้ด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานได้จากปัญหาโควิด-19 ทั้งนี้พบว่าไทยคือเป้าหมายของผู้ผลิตชิ้นส่วนรายสำคัญของโลกที่มีฐานผลิตในจีน ที่ต้องการเข้ามาลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงหลังจากโควิด ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยที่เน้นนำเข้าก็กำลังต้องการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศเช่นกัน จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในเวลานี้

Advertisement

“งานจับคู่ครั้งนี้คาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจอย่างน้อย 4,000 คู่ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 8,000 คู่ มูลค่า 14,000 ล้านบาท ซึ่งการลดลงนี้ถือเป็นตัวเลขที่ดีพอสมควรแล้วเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการต่างชาติหลายรายสนใจเข้าร่วมงาน อาทิ บริษัทเครื่องมือแพทย์ประเทศฝรั่งเศส บริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศเยอรมนีและจีน บริษัทจากญี่ปุ่น และไต้หวัน”น.ส.ซ่อนกลิ่นกล่าว

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า การจัดงานปีนี้จะพิเศษกว่าทุกปี เพราะมีการจัดงานร่วมกันหลายงานทั้งงานซับคอนไทยแลนด์ และอินเตอร์แมค และงานอาเซียน ซัสเทนเนเบิล เอ็นเนอยี วีค 2020 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานที่คลอบคลุมที่สุดในอาเซียน และงานแสดงเทคโนโลยีเฉพาะทางด้านหม้อไอน้ำ ภาชนะรับแรงดัน ปั๊ม วาล์ว และอุปกรณ์เกี่ยวข้อง ซึ่งภายในงานจะมีการแสดงสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงภาคการผลิตของผู้ประกอบการ ถือเป็นงานจับคู่ธุรกิจงานเดียวที่ยิ่งครั้งใหญ่ของครึ่งปีนี้ โดยจะแบ่งห้อง งานสัมมนาทั้งในห้อง และทางออนไลน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image