อินทัช เผยกำไรครึ่งแรกปี 63 กวาด 5,721 ลบ. พร้อมจ่ายปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 1.15 บาท
นายเอนก พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องจากอินทัช ประกอบธุรกิจการลงทุนโดยเข้าถือหุ้นในบริษัทอื่น ดังนั้น เมื่อบริษัทที่เข้าลงทุนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้รับผลกระทบตาม โดยกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกลดลง 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 5,721 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้ผลกำไรของเอไอเอสลดลง 8.3% จากการลดลงของรายได้ ขณะที่ไทยคมมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นโดยพลิกจากการรับรู้ผลขาดทุน 69 ล้านบาท มาเป็นกำไร 286 ล้านบาท เนื่องจากมีการรับรู้รายได้จากเงินชดเชยในไตรมาสที่ 2/2563”
นายเอนก กล่าวว่า สำหรับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส มีผลกำไรสุทธิในงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 ที่ 14,239 ล้านบาท ลดลง 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 4.5% ในขณะที่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมีรายได้เติบโตขึ้น 25% เป็นผลมาจากการทำงานที่บ้าน (เวิร์กฟอร์มโฮม) และเรียนที่บ้าน (เลิร์นฟรอมโฮม) ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งสิ้น 1.2 ล้านราย มีจำนวนลูกค้าใหม่สูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการ นอกจากนี้ รายได้จากการให้บริการลูกค้าองค์กรเพิ่มขึ้น 5.4% จากความต้องการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์, คลาวด์ และไอซีทีโซลูชั่น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลังจากได้รับคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ เอไอเอสได้ขยายโครงข่าย 5G ครบ 77 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 50% ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยภายในปี 2563 จะขยายบริการ 5G ให้ครอบคลุม 13% ของประชากรไทย และ 50% ของประชากรในกรุงเทพ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้กับประเทศ รองรับการใช้งานดาต้าที่เพิ่มมากขึ้น และสร้างการเติบโตในระยะยาว
“ส่วนผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 695 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนอยู่ที่ 168 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้เงินชดเชยประกอบกับการลดลงของค่าเสื่อมราคาของดาวเทียมจากการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 รวมทั้งการด้อยค่าของดาวเทียมดวงอื่นๆ ในปี 2562 ทั้งนี้ ไทยคมมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐเพื่อบริหารดาวเทียมภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และให้ความสำคัญกับการศึกษาพัฒนาธุรกิจใหม่โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม อาทิ ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ โดรนเพื่อการเกษตร และอากาศยานไร้คนขับ เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีจากอวกาศสู่ภาคพื้นดิน และสมาร์ทโซลูชั่นชั้นนำแห่งเอเชีย” นายเอนก กล่าว
นายเอนก กล่าวว่า ขณะที่ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โครงการอินเว้นท์ ลงทุนรวม 202 ล้านบาท ใน 3 บริษัทใหม่ ประกอบด้วย บริษัท แอกซินัน พีทีอี ลิมิเต็ด ให้บริการประกันภัยดิจิทัลครอบคลุมสินค้ากลุ่มอิเล็คทรอนิกส์ บ้าน และอุบัติเหตุส่วนบุคคล, บริษัท ดาต้าฟาร์ม จำกัด ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยทางด้านไอที (ไอทีซีเคียวริตี้) ช่วยปกป้องข้อมูลจากการโจมตีทางไซเบอร์ และบริษัท พาโรนีม ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มโฆษณาในรูปแบบวิดีโอจากประเทศญี่ปุ่น ที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันทีผ่านหน้าจอ ต่อยอดด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ทั้งในเรื่อง Objective tracking และ Heat map tool ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของพาโรนีม เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้ตอบสนองต่อโฆษณาได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ได้ลงทุนเพิ่มในบริษัทที่ได้ลงทุนไปแล้วคือ บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ พีทีอี ลิมิเต็ด ผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินและออกแบบแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับนักลงทุนโดยตรงเพื่อช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการธุรกิจ ทำให้มูลค่าพอร์ตการลงทุนภายใต้โครงการอินเว้นท์ (ที่รวมมูลค่าบริษัทที่ได้ขายออกไป) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ 1,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,051 ล้านบาท ในสิ้นปี 2562 และมีบริษัทที่อยู่ภายใต้การลงทุนของอินเว้นท์ในปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 17 บริษัท
สำหรับทิศทางการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 อินเว้นท์ยังคงนโยบายการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ เทคโนโลยี และธุรกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีเกิดใหม่ หรือเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งแสวงหาการลงทุนที่สามารถต่อยอดเทคโนโลยี 5G ในอนาคต ทั้งนี้ การลงทุนของอินเว้นท์นอกจากจะลงทุนในประเทศไทยแล้ว ยังแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย
“อินทัช และบริษัทในเครือยังคงแสวงหาโอกาสในการลงทุนเพื่อตอบรับเทคโนโลยี 5G และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อต่อยอดการเติบโตให้กับกลุ่มอินทัช และสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้น” นายเอนก กล่าว