‘สทนช.’ คลอดชัยนาท-ป่าสัก ทุ่มงบกว่า 1 แสนล้าน รองรับน้ำหลากลุ่มเจ้าพระยา

‘สทนช.’ คลอดชัยนาท-ป่าสัก ทุ่มงบกว่า 1 แสนล้าน รองรับน้ำหลากลุ่มเจ้าพระยา

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กล่าวว่า ตาม 9 แผนงาน ของแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง วงเงิน 3.4 แสนล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ไปแล้ว ทาง สทนช.ได้ ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาเพื่อจัดเรียงลำดับการดำเนินการอีกครั้งโดยพบว่า ที่น่าสนใจ คือโครงการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2554 คือ โครงการตัดลำน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก และ ป่าสัก-อ่าวไทย วงเงินรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการขุดคลองใหม่ รวมระยะทางประมาณ 124 กิโลเมตร จากปทุมธานี ฉะเชิงเทรา กรุงเทพฯ และสมุทรปาการ ลักษณะเป็นคลองเปิด ซึ่งจะทำให้ผ่านที่ชุมชนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทำฟลัดเวย์ และการทำวงแหวนตามข้อเสนอขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือไจก้า

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทั้งนี้ ตามแนวคลองที่บางส่วนต้องผ่านชุมชน จะขอซื้อ หรือจัดจ้าง แทนการเวนคืน หากไม่ยินยอมก็ต้องเจรจา คาดว่าจะใช้งบประมาณในกรณีซื้อที่ดินรวม 2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะเป็นด้านเทคโนโลยี โดยการขุดคลองตามแนวขนานกับคลองชัยนาท- ป่าสัก นั้นจะเริ่มดำเนินการในปี 2564 เป็นต้นไป ส่วนจากป่าสัก-อ่าวไทย กรมชลประทานอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 9 ล้านไร่จากที่ปี 2554 มีน้ำท่วมรวม 12 ล้านไร่ โดยจะมีพื้นที่น้ำท่วมลึก 1 เมตร 3 แสนไร่ ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา

ด้าน นายณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวว่า ผลการศึกษาแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ 9 โครงการ ได้จัดเรียง โครงการที่ควรดำเนินการในปี 2564-2570 คือ ระบบโครงข่ายฝั่งตะวันออกเจ้าพระยา วงเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท คลองระบายน้ำหลาก ชัยนาท- ป่าสัก 3.4 หมื่นล้านบาท ระบบโครงข่ายฝั่งตะวันตกเจ้าพระยา 4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพแม่น้ำเจ้าพระยา 2.5 พันล้านบาท บริหารจัดการพื้นที่นอกคันเจ้าพระยา 4.1 พันล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพแม่น้ำท่าจีน 2.6 พันล้านบาท พื้นที่รับน้ำนอง 12 ทุ่งเจ้าพระยา ทั้งหมดนี้เป็นแผนงานปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพระบบที่มีอยู่เดิมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายณัฐ กล่าวว่า ขณะนี้มีแผนงานต้องก่อสร้างใหม่  คือ คลองระบายน้ำหลาก บางบาล- บางไทร 2.1 หมื่นล้านบาท คอลงระบายน้ำหลาก ป่าสัก-อ่าวไทย 6.5 หมื่นล้านบาท คอลงระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่3 งบ 9.3 หมื่นล้านบาท  และคลองระบายน้ำหลาก ป่าสัก-คลองเชื่อม วงแหวน3- อ่าวไทย 1 หมื่นล้านบาท

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่อจัดเรียงลำดับตามแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยกรณีน้ำท่วมหนักปี 2554 ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นในรอบ 50 ปีต่อครั้ง พบว่า ควรใช้วิธีการขุดคลองเพื่อตัดน้ำหลากจากทางภาคเหนือ เข้าสู่คลองชัยนาท- ป่าสัก ที่มีอยู่เดิม และให้ขุดคลองใหม่คู่ขนานขนาดความกว้าง 130 เมตร ยาว 100 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมกับคลองใหม่ ที่จะขุดจากคอลงป่าสัก-อ่าวไทย 124 กิโลเมตร โดยมีทางออกของคลองบริเวณคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปาการ

“แผนการนี้จะลดพื้นที่น้ำท่วมในเขตนิคมอุตสาหกรรม ที่พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานีได้ แต่ยังจะมีน้ำท่วมอยู่บ้างในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ดังนั้นเพื่อให้น้ำระบายลงอ่าวไทยได้เร็วขึ้นซึ่งจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯได้100% ต้องขุดคลองใหม่ตามแนววงแหวนรอบที่ 3 ยาว 110 กิโลเมตรด้วยร่วมด้วย” นายณัฐ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image