‘สศช.’ เปิดตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/63 ติดลบแรง 12.2% หั่นคาดการณ์ทั้งปีติดลบ 7.8%

สศช.’ เปิดตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/63 ติดลบแรง 12.2% หั่นคาดการณ์ทั้งปีติดลบ 7.8%

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการกีดกันทางการค้าตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา จนส่งผลให้เศรษกิจไทยในไตรมาสปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ติดลบ 12.2% ส่วนเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวลดลงในช่วงติดลบที่ 7.8% ถึง 7.3% ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงจากเดิมที่คาดไว้ว่า จะติดลบในช่วงลบ 6.0% ถึง 5.0% เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากต่างชาติที่ลดลงมาก ภาวะความถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศและปัญหาภัยแล้งด้วย

ภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2 ยังมีความน่ากังวลอยู่มาก เนื่องจากพบว่าการจ้างงานลดลงถึง 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 แสนคน รวมถึงหนี้สินในภาคครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นเช่นกันโดยขยายตัวกว่า 3.9% ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นที่ลดลงตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ความต้องการอุปโภคและบริโภคของครัวเรือนปรับตัวลดลง รวมถึงความต้องการสินเชื่อของครัวเรือนในเกือบทุกประเภทเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีไทย ขยับขึ้นมาที่ 80.1% ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าสูงสุดในรอบ 4 ปี ทำให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) มีมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาทนายทศพรกล่าว

นายทศพรกล่าวว่า สำหรับการบริโภคภาคเอกชนติดลบอยู่ที่ 6.6% เทียบกับการขยายตัว 2.7% ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา สอดคล้องกับฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจและการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงการระบาดของโควิด-19 ด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.4% เทียบกับการปรับตัวลดลง ติดลบ 2.8% ในไตรมาสแรก ด้านการลงทุนรวมปรับติดลบ 8.0% เทียบกับการติดลบ 6.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงอยู่ที่  ติดลบ 15.0 ต่อเนื่องจากการติดลบ 5.4% ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 12.5% เทียบกับการปรับตัวลดลง ติดลบ 9.3% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนของภาครัฐบาลที่เพิ่มขึ้น 21.0% ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจติดลบอยู่ที่ 0.8%

นายทศพรกล่าวว่า ในด้านภาคต่างประเทศการส่งออกมีมูลค่า 49,797 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 17.8% เทียบกับการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามภาวะถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยปริมาณการส่งออกติดลบ 16.1 และราคาส่งออกติดลบ 2.0% ด้านการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 41,746 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 23.4% เทียบกับการติดลบ 1.0% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก อุปสงค์ในประเทศและราคาการนำเข้าสินค้า โดยปริมาณการนำเข้าติดลบ 19.3% ส่วนราคานำเข้าติดลบ 5.1% ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวในไตรมาส2 มีรายรับรวมจากนักท่องเที่ยว 0.019 ล้านล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 97.1% โดยรายรับรวมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 0.019 ล้านล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 92.7% ขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงทั้งหมด ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วไปลดลง 2.7% บัญชีเดินสะพัดขาดดุล 0.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.8% ของจีดีพี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ สิ้นเดือน มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 241.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และหนี้สาธารณะ สิ้นเดือน มิถุนายน 2563 มีมูลค่า 7,433.1 พันล้านบาท คิดเป็น 44.8% ของจีดีพีรวม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image