“สุริยะ” ลั่นจ่ายค่าอ้อยครบหมื่นล. ถึงมือชาวไร่2แสนรายภายในก.ย.นี้

“สุริยะ”เร่งอัดหมื่นล้านช่วยชาวไร่ทุกรายก.ย.นี้ สอน.เผยเหลืออีกแค่ 700 รายรอรับเงิน เหตุตกหล่นเอกสารไม่ครบ ด้านรง.น้ำตาลเสนอแนวทางแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ฤดูหีบ 2563/64 จี้กำหนดราคารับซื้ออ้อยสดต่างกับอ้อยไฟไหม้ แนะรัฐให้ประโยชน์รง.หีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 90 กก.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/63 วงเงิน 10,000 ล้านบาท ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ดำเนินการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยกว่า 200,000 รายโดยเร็ว เนื่องจากเป็นโครงการที่จำเป็น บรรเทาผลกระทบชาวไร่ที่เผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ได้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาทต่อตัน ถือเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำ ล่าสุดได้รับรายงานจากสอน.ว่ามีการเร่งการจ่ายเกือบครบ 100% คาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้จะจ่ายเงินครบทุกราย

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ยังไม่ได้รับเงินไม่เกิน 700 คน ถือเป็นกลุ่มตกหล่นเนื่องจากเอกสารไม่ครบ แต่มั่นใจว่าจะเดินการโอนเงินช่วยเหลือผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้แน่นอน สำหรับผลการจ่ายเงินให้ชาวไร่ทั่วประเทศ ตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/63 วงเงิน 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น อ้อยรวม ตันละ 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตัน วงเงิน 6,500 ล้าน และอ้อยสด ตันละ 92 บาทให้ทุกตันอ้อย วงเงิน 3,500 ล้าน ล่าสุดมีการดำเนินการ 2 รอบ รอบแรกโอนเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 อ้อยรวม ตันละ 85 บาท โอนให้ชาวไร่ไปแล้ว 187,924 ราย จำนวนเงิน 6,220 ล้านบาท อ้อยสด ตันละ 92 บาท โอนให้ชาวไร่แล้ว 131,980 ราย จำนวนเงิน 3,398 ล้านบาทครับ

“ล่าสุดเดือนสิงหาคมนี้ มีการโอนเงินช่วยปัจจัยการผลิต ตันละ 85 บาท อีกจำนวน 1,069 ราย ปริมาณอ้อย 560 ตัน วงเงิน 47.60 ล้านบาท และเงินช่วยอ้อยสด ตันละ 92 บาท จำนวน 795 ราย ปริมาณอ้อย 300 ตัน วงเงิน 27.60 ล้านบาท”นายวิฤทธิ์กล่าว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า สนับสนุนการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ประจำฤดูการหีบอ้อยประจำปี 2563/64 ทั้งกรณีที่ชาวไร่อ้อยเสนอให้กำหนดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกิน 40% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบแต่ละโรงงาน ขณะที่เป้าหมายภาครัฐกำหนดไม่เกิน 20% เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยและเครื่องจักรจัดเก็บผลผลิตมีราคาสูง ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ชาวไร่ไม่มีทางเลือกต้องเผาอ้อย นอกจากนี้โรงงานน้ำตาลเห็นด้วยกับการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการหีบสกัดของโรงงานโดยยึดหลักการใครทำดีควรได้ดีเช่นเดียวกัน หากกำหนดข้อบังคับมาตรฐานในการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 90 กิโลกรัม โรงงานที่หีบสกัดน้ำตาลได้ต่ำกว่าจะต้องรับผิดชอบส่วนต่างดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และหากโรงงานใดมีประสิทธิภาพหีบสกัดน้ำตาลที่ดีกว่า ก็ควรได้รับประโยชน์จากน้ำตาลที่ทำได้ดีเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานเช่นกัน

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image