‘เคทีซี’ เผยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้พ้นโควิด-19 ทำรายได้สูญกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน
นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารและธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ เคทีซี เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 เคทีซีมีสินเชื่อส่วนบุคคลที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ขึ้นไป จนกลายเป็นหนี้ไม่ก่อรายได้ หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 8.5% ของยอดสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นผลจากการจัดชั้นหนี้มาตรฐานทางบัญชีใหม่ (TFRS9) จากเดิมมีเอ็นพีแอลในมาตรฐานเดิม ณ ปี 2562 อยู่ที่ 0.8% เท่านั้น ทำให้คุณภาพลูกหนี้ไม่เสียตกชั้นมากนักจากสิ้นปีที่แล้ว รวมถึงมีลูกหนี้เข้ามาตรการพักชำระหนี้ด้วย หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถการชำระหนี้ของลูกค้าเคทีซี โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มีลูกค้าเข้ามาตรการช่วยเหลือพักชำระหนี้ จำนวนรวม 5,500 ราย วงเงินรวม 450 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของพอร์ตรวมทั้งหมดที่มีมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท
นางสาวพิชามน กล่าวว่า สำหรับภาพรวมสินเชื่อส่วนบุคคล ในช่วงเดือนเมษายน–พฤษภาคม 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดและมาตรการล็อคดาวน์ พบว่า การเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยลูกค้าสินเชื่อบุคคล มีการใช้จ่ายระมัดระวังมากขึ้น แต่เริ่มกลับมามีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน จนถึงปัจจุบันนี้ โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน2563 มีเงินให้สินเชื่อรวมและดอกเบี้ยค้างชำระรับรวม 30,244 ล้านบาท เติบโต 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันยังเติบโตจากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ระดับ 28,933 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี 2563 บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายว่าสินเชื่อส่วนบุคคลเคทีซี จะเติบโต 10% จากสิ้นปีก่อน และคาดว่าจะมีสมาชิกมีบัตรใหม่ 1.6-1.8 แสนคน จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว891,875 บัญชี และมีส่วนแบ่งทางการตลาด 5.4% ของสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งตลาด ส่วนทิศทางสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ผ่านมาตรการที่ออกมา และจะหันมาหารายได้จากส่วนของสินเชื่อบุคคลมากขึ้น ทั้งจากพฤติกรรมการใช้จ่ายและบริโภคที่กลับมาดีขึ้น และการออกบัตรกดเงินสดใหม่
“ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังมีความรุนแรงขึ้น เคทีซีได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า อาทิ การลดขั้นต่ำการผ่อนชำระ ลดอัตราดอกเบี้ย การปรับลดขั้นต่ำ ส่งผลให้รายได้ของเคทีซีลดลงกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน โดยการควบคุมความเสี่ยงมีการปรับเกณฑ์ด้านสายงานลูกค้าในการพิจารณาสินเชื่อ อาทิ สายงานลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างสายการบิน โรงแรม ทัวร์ หรือช่วงที่ผ่านมาร้านอาหารปรับตัวดีขึ้น จึงปรับเกณฑ์การพิจารณาสู่ระดับปกติ โดยยอดการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ 25-26% ลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่อยู่ประมาณ 28% ทำให้คาดว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลในสิ้นปีนี้ น่าจะทรงตัวอยู่ระดับไม่ค่างจากเดิม โดยลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ หากหมดมาตรการนี้ จะมีลูกหนี้บางส่วนที่อาจจะยังไม่สามารถผ่อนขำระได้ หรือยังถูกเลิกจ้างอยู่ ซึ่งเคทีซีจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือต่อไป” นางสาวพิชามน กล่าว
นางสาวพิชามน กล่าวว่า นอกจากนี้ เคทีซียังได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาดใหม่ และเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยจะควบคุมคุณภาพและเพิ่มปริมาณสินเชื่อให้เหมาะสม รวมถึงศึกษาทำความรู้จักตัวตนและวิถีการใช้ชีวิตของสมาชิกตัวจริงให้มากที่สุด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้บรรลุความต้องการสมาชิกให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด โดยได้เปิดตัวบัตรกดเงินสดเคทีซีพราว – ยูเนี่ยน เพย์ ที่อัพใหม่พร้อม 4 ฟังก์ชั่น กด–โอน–รูด–ผ่อน สะดวกทุกการใช้งานในบัตรเดียว สามารถทำธุรกรรมรูดซื้อสินค้าและบริการได้ ณ ร้านค้าชั้นนำที่รองรับการทำธุรกรรมด้วยบัตรยูเนี่ยน เพย์ ทั่วประเทศไทย โดยใช้รหัสพิน 6 หลัก เพื่อยืนยันการทำธุรกรรม เพิ่มความสะดวกปลอดภัย รองรับระบบชำระเงินแบบไร้สัมผัส ซึ่งช่วยให้ชำระเงินได้ง่ายขึ้นด้วยการแตะ แค่มองหาสัญลักษณ์ Contactless บนเครื่องชำระเงิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- บิ๊กต่าย ขีดเส้น 7 วัน ต้องพบฐานความผิด บ.ดาราดัง ก่อนออก ‘หมายเรียก-หมายจับ’
- ม.หอค้าสำรวจ ‘ผู้ประกอบการ-ปปช.’ ดัชนีเชื่อมั่นวูบต่อเนื่อง แนะกระตุ้นศก.ก๊อก2
- พิธา ชี้ร้อง ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ ล้มล้างปกครอง คือ ‘ความอปกติปชต.’ แนะทุกพรรคต้องพูดคุยแก้รธน.
- หน้า 1 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2567