วันนี้ “บิ๊กตู่” ถกนัดแรก “ศบศ.”จะมีอะไรใหม่มากระตุ้นศก.

วันนี้ “บิ๊กตู่” ถกนัดแรก “ศบศ.”จะมีอะไรใหม่มากระตุ้นศก…ครม.อัดฉีด 1 แสนล้านปล่อยกู้”เอสเอ็มอี” 3 กลุ่ม

วันที่ 19 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม จะนั่งหัวโต๊ะประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) นัดแรก ซึ่งแปลงร่างมาจาก ครม.เศรษฐกิจเดิม หลังการประชุมจะมีโครงการ หรือมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังย่ำแย่จากพิษโควิด-19

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมว่า การประชุมของ ศบศ. ครั้งแรก คล้ายคลึงกับ ครม.เศรษฐกิจเดิม แต่จะทำงานให้มันกว้างขึ้น มีเพิ่มอนุกรรมการเพื่อให้ครอบคลุมสมาคมและส่วนต่างๆ เป็นรายกิจกรรม รายภาคส่วน แล้วก็นำเสนอที่ประชุม ทั้งนี้ เตรียมการประชุมไว้มากพอสมควรแล้ว ในการประชุมก็จะได้รับทราบว่ามีอะไรก้าวหน้าบ้าง

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง โดยเฉพาะการบริโภค การจ้างงาน ซึ่งมีกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพในการจัดเอ็กซ์โป เพราะมีทั้งรัฐบาลและเอกชน เพื่อจัดหางานกว่าหลายแสนตำแหน่ง ต้องสร้างเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน”พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญการลงทุนจากภาครัฐ ภาคเอกชนและต่างชาติ รวมทั้งการแก้ปัญหารายกลุ่มกิจการ ซึ่งศบศ.พร้อมจะทำงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม.เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเอสเอ็มอีทั่วไป 2.กลุ่มเอสเอ็มอีท่องเที่ยว และ 3.กลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยและประชาชน วงเงินสินเชื่อและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 114,100 ล้านบาท

Advertisement

นายลวรณกล่าวว่า สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีทั่วไป 1.สินเชื่อซอฟท์โลน ธนาคารออมสิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป วงเงิน 10,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยตรงจำนวน 3,000 ล้านบาท

นายลวรณกล่าวว่า 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อพีจีเอส ซอฟท์โลน พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีคุณสมบัติตามพ.ร.ก.ซอฟท์โลน แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตามพ.ร.ก.ซอฟท์โลน คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดย บสย. จะเริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่ละรายได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก.ซอฟท์โลน และ3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อพีจีเอส ระยะที่ 8 วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี

Advertisement

นายลวรณกล่าวว่า ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอี ท่องเที่ยว 1.สินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและห่วงโซ่ วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี 2.สินเชื่อเงินสดพิเศษ วงเงิน 9,600 ล้านบาท โดยธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี

นายลวรณกล่าวว่า สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยและประชาชน 1.สินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และบุคคลในครอบครัว วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ผู้ประกอบการรายย่อย ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1-2% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี ขยายเวลารับคำขอค้ำประกันถึง 30 ธันวาคม 2563

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวว่า ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการปรับปรุงแผนดังกล่าวประกอบด้วย การปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 214,093 ล้านบาท รวมถึงการนำรายการหนี้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกจากแผนฯ เนื่องจาก บริษัทฯ ได้พ้นสถานภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้หนี้เงินกู้ของการบินไทยไม่นับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย

น.ส.รัชดากล่าวว่า ทั้งนี้ จะส่งผลต่อวงเงินหนี้สาธารณะเปลี่ยนแปลงจากแผนเดิมดังนี้ แผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มอีก 158,521 ล้านบาท เป็น 1,656,020 ล้านบาท ส่วนแผนการบริหารหนี้เดิมลดลง 67,267 ล้านบาท เป็น 968,510 ล้านบาท ขณะที่แผนการชำระหนี้ลดลง 22,329 ล้านบาท เป็น 367,043 ล้านบาท

“นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 214,093 ล้านบาท สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประมาณการยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 8.21 ล้านล้านบาท และสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ระดับ 51.64%”น.ส.รัชดากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image