ศบศ.เพิ่มสิทธิเราเที่ยวด้วยกันนอน 10 คืน ช่วยค่าตั๋วเพิ่มเป็น 2,000 บ.

ศบศ.เคาะ 4 มาตรการกระตุ้น ศก. เพิ่มสิทธิ์เราเที่ยวด้วยกันนอน 10 คืน ช่วยค่าตั๋วเพิ่มเป็น 2,000 บาทต่อคน หวังดันให้เกิดการท่องเที่ยวระยะไกลเพิ่ม

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 19 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมนัดแรก ร่วมด้วยรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคเอกชน อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุม ศบศ.ได้แบ่งแนวทางดูแลและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรกระดับประเทศ โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยจะพิจารณามาตรการเชิงรับที่จะเข้าไปแก้ปัญหาเร่งด่วน ซึ่งจะมีการรวบรวมมาตรการจากฝ่ายต่างๆ เข้ามา 2.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาว

และ 3.คณะอนุกรรมการรับฟังข้อคิดเห็น โดยจะมีตัวแทนจาก ส.อ.ท. สภาหอการค้าไทยร่วมด้วย และมีการตั้งคณะกรรมการติดตามวัดผลมาตรการดำเนินการออกมา โดยมีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน ส่วนที่สองระดับจังหวัด โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีทุกพรรคลงพื้นที่ทำงานประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และจะดำเนินการภายใต้งบประมาณ 3 ล้านล้านบาท ที่รออนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร

นายสมิทธ์ พนมยงค์ โฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบศ.ได้อนุมัติ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โดยจะมีการขยายสิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่เริ่มมาตรการจนถึงปัจจุบันมีการใช้สิทธิที่พักไปประมาณ 5 แสนสิทธิ จากจำนวนทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ หรือเพียง 10% เท่านั้น ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้ขอขยายสิทธิในมาตรการเพิ่ม ได้แก่ ขยายสิทธิจากคนละ 5 คืน เป็น 10 คืน และขยายการสนับสนุนตั๋วเครื่องบินจาก 1,000 บาทต่อคน เป็น 2,000 บาทต่อคน ในส่วนนี้ต้องการให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวในระยะไกลมากขึ้น จากเดิมที่มีการท่องเที่ยวในระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตรจากภูมิลำเนาเท่านั้น จากเหตุผลดังกล่าวจึงต้องมีการปรับปรุงและขยายสิทธิเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าเรื่องนี้อาจจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ หาก ททท.จัดทำรายละเอียดข้อมูลได้ทัน

Advertisement

2.มาตรการสนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตามที่กระทรวงการคลังดำเนินการแล้ว 3.มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน โดยให้กระทรวงแรงงานเร่งทำมาตรการเสนอ โดยให้จัดทำเป็นแพลตฟอร์มฐานข้อมูลบิ๊กดาต้ามาเสนอต่อไป แต่เบื้องต้นเท่าที่มีการรวบรวมน่าจะมีตำแหน่งที่สามารถจ้างงานได้อีก 6-7 แสนตำแหน่ง รองรับจากปัจจุบันที่มีอัตราว่างงานอยู่ที่ 7.5 แสนตำแหน่ง ซึ่งจะมีการรวบรวมและจัดจ๊อบ เอ็กซ์โป เพื่อให้คนรับรู้

และ 4.มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ที่จะไม่ใช้วิธีการแจกเงินเหมือนมาตรการชิมช้อปใช้ แต่จะใช้วิธีดึงเอกชนที่พอมีกำลังเข้ามาช่วยเหลือแทน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงจะมีแผนกระจายรายได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก และกลุ่มหาบเร่แผงลอยให้เข้าถึงการช่วยเหลือ โดยรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยดูเรื่องการทำคิวอาร์โค้ดให้เท่าเทียมกับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดให้มีการจัดทำรายละเอียดและเสนอ ศบศ.ในอีก 2 สัปดาห์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image