‘หอการค้าไทย’ ประเมินเศรษฐกิจมีความเสี่ยงติดลบอ่วม หากการเมืองร้อนแรงขึ้น-โควิดระบาดรอบ 2

หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจมีความเสี่ยงติดลบอ่วม หากการเมืองร้อนแรงขึ้นโควิดระบาดรอบ 2

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนกรกฎาคม 2563 ว่า จากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 364 ราย ในช่วงวันที่ 27-31 กรกฎาคม 2563 พบว่า ดัชนีนวามเชื่อมั่นหอการค้าไทย ปรับขึ้นมาเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 31.8 จากเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 31.5 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ยังมีความเสี่ยงติดลบมากกว่า 7.5% ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเมืองว่า จะต้องไม่บานปลาย แต่สถานการณ์การเมือง ยังประเมินผลกระทบได้ยาก แต่หากดูจากการปรับตัวลดลงของดัชนีหุ้นไทย ที่ลดลงจากความกังวลโควิด-19 ระบาดรอบ 2 และไม่ได้ตอบรับเชิงลบกับการชุมนุมประท้วงมากนัก ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองไทยจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนระหว่างประเทศ ที่กังวลว่าประเทศไทยยังอยู่ในวงจรความไม่มีเสถียรภาพการเมืองต่อเนื่อง ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หากยังไม่มีการใช้ความรุนแรง และเป็นการชุมนุมแบบสงบ ไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย แม้จะมีผลกระทบต่อจิตวิทยาในเชิงลบของการลงทุนอยู่บ้าง และการระบาดโควิด-19 ไม่เกิดระลอก 2 ขึ้น เพราะจะเป็นการกีดกันการเข้ามาเที่ยวของต่างชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่คาดหวังจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยประเมินว่า หากมีความกังวลการระบาดโควิด-19 ระลอก 2 จะทำให้เม็ดเงินใช้จ่ายหายไป 1,000-5,000 ล้านบาทต่อวัน และหากมีการล็อกดาวน์อีกครั้ง เม็ดเงินจะหายไป 8,000-9,000 ล้านบาทต่อวัน รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ชัดเจนมากหรือน้อยอย่างไร

เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะไม่ดีทั่วประเทศ สะท้อนได้จากการรายงานตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาส 2/2563 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ติดลบกว่า 12.2% และยังไม่เห็นสัญญาณการกระเตื้องขึ้นของระบบเศรษฐกิจไทยในทั่วทุกภาคของไทย ประเมินจากดัชนีหอการค้าไทยรายภาค โดยปัจจุบันคนส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์แย่ทุกรายการ ทั้งภาวะเศรษฐกิจ การจ้างงาน การค้าขาย และการลงทุน รวมถึงในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจากการสำรวจกลุ่มนักธุรกิจตัวอย่าง มองว่ายังไม่มีสัญญาณที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และส่วนใหญ่มองว่ายังไม่มีเปลี่ยนแปลงจากเดิม รวมถึงมีบางรายที่มองว่าจะแย่กว่าเดิมด้วย โดยมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนมองว่ายังไม่สามารถช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเรียกร้องของเอกชน ที่ต้องการให้รัฐบาลปล่อยสินเชื้อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เข้าสู่ระบบของผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการให้ธุรกิจมีเม็ดเงินเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติมได้ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญมากนายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวเชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือเศรษฐกิจได้ แต่ต้องกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยสูงกว่านี้ จึงมีการกระตุ้นให้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงออกมาใช้เงิน โดยเพิ่มแรงจูงใจผ่านการสนับสนุนค่าเดินทางด้วยเครื่องบิน เพื่อให้คนเดินทางไกลมากกว่า 300 กิโลเมตร รวมถึงต้องการให้คนเดินทางพักแรมนานขึ้นจึงเพิ่มจำนวนการเข้าพักเป็น 10 คืน จาก 5 คืน และต้องการให้คนไทยที่มีกำลังซื้อ ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ หันกลับมาเที่ยวในประเทศแทน โดยเฉพาะในสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากมีมาตรการด้านภาษีในการจูงใจให้นำการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว มาลดหย่อนภาษีได้ อาจดึงดูดให้ผู้ที่มีรมยได้สูง เสียภาษีในอัตรามากๆ ออกเดินทางมากขึ้นได้ โดยปกตินักท่องเที่ยวต่างชาติจะใช้จ่ายเฉลี่ย 50,000 บาทต่อคนต่อทริป ในระยะเวลา 8-10 วัน แต่คนไทยจะใช้จ่ายเพียง 5,000 บาทต่อทริป ในการเดินทาง 2-3 วันเท่านั้น จึงต้องทำให้นักท่องเที่ยวไทยออกเดินทางถี่มากขึ้น อาทิ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 คน ถูกชดเชยด้วยนักท่องเที่ยวไทย 10 คน ไรือคนไทยเที่ยว 10 ครั้ง

การท่องเที่ยวไทยเป็นวานะสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นขึ้นมา ส่วนแนวคิดการจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (แทรเวล บับเบิล) คงเป็นเรื่องที่ยากแล้ว เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลก ยังมีภาพการติดเชื้อในอัตราเร่งอยู่ รวมถึงประเทศไทยก็มีความเสี่ยงในการระบาดระลอก 2 ขึ้น ทำให้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เพราะแทรเวล บับเบิลคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยมองว่าในไตรมาส 4/2563 ต่างชาติน่าจะยังเข้ามาไม่ได้ แต่หากเป็นต้นปี 2564 อาจมีโอกาสได้เห็นเข้ามา หากไทยปลอดเชื้อในอัตรา 100 วันขึ้นไปต่อเนื่องนายธนวรรธน์ กล่าว

Advertisement

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากมีความเสี่ยงใหม่ๆ เกิดขึ้น ผู้ประกอบการจะไม่กล้าลงทุน และไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปแบบปกติได้ รวมถึงจะเกิดการปลดคนงานเพิ่มขึ้น ต่อเนื่องจากที่สศช. ได้แสดงความกังวลในเรื่องอัตราการว่างที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ทำให้สัญญาณความกังวลในการปลดคนงานเริ่มมีความกังวลมากขึ้น ความสุ่มเสี่ยงเดิมที่หอการค้าไทยเคยสำรวจว่า หากเศรษฐกิจไม่ฟื้น เอสเอ็มอีจะปลดคนงานเพิ่มอีก 2 ล้านคนในปลายปีนี้มีความเป็นไปได้มากขึ้น หากเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวดีขึ้น การชุมนุมทางการเมืองยังมีต่อเนื่อง และการระบาดโควิด-19 ระลอก 2 จะทำให้คนส่วนใหญ่ชะลอการใช้จ่ายมากขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม ยังไม่กระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนแนวโน้มเดือนสิงหาคมนี้ ยังไม่มีการปรับดีขึ้นของเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจยังไม่มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้อย่างโดดเด่น รวมถึงปัญหาหนี้ในระบบและนอกระบบจะปรับเพิ่มขึ้น และมีความกังวลต่อไป สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขคือ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ต้องหามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นชัดเจน ได้แก่ การเร่งใช้งบประมาณเงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท ที่มีการใช้ไปเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น โดยต้องหาทางกระจายเม็ดเงินไปสู่ภูมิภาค และทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น รวมถึงต้องดูแลไม่ให้เกิดการระบาดโควิด-19 รอบ 2 เพราะหากมีการระบาดอีกครั้ง แล้วเกิดการเลิกจ้างอีก จะทำให้ความเชื่อมั่น และการจับจ่ายใช้สอยแย่ลงมากกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image