ดีแทค ยันไม่หยุดให้บริการในไทย พร้อมปรับตัวรับวิถีโลกหลังโควิด

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

ดีแทค ยันไม่หยุดให้บริการในไทย พร้อมปรับตัวรับวิถีโลกหลังโควิด การทำงานแบบดิจิทัลต้องมาก่อน

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ตลอดเวลากว่า 6 เดือนที่นั่งในตำแหน่งซีอีโอดีแทค พบว่าตลาดไทยมีความเฉพาะตัวในหลายด้าน ทั้งพฤติกรรมหรือความต้องการใช้งานของลูกค้ามีลักษณะเฉพาะบุคคลมาก จึงถือเป็นความท้าทายในการทำงาน แต่ก็เข้าใจดีถึงกระแสข่าวด้านลบที่มีต่อดีแทค ทั้งการที่เทเลนอร์ กรุ๊ป จะยกเลิกการทำธุรกิจในไทย หรือการมีพันธมิตรต่างชาติเข้าครอบครองกิจการ และการปรับลดพนักงานลง 50% เพื่อลดขนาดองค์กร

“ยืนยันว่าดีแทคยังคงลงทุนและจะให้บริการในประเทศไทยต่อไป บริษัทพร้อมปรับตัวเพื่อให้เข้ากับวิถีโลกและในไทย ซึ่งจากภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด องค์กรที่มีประสิทธิภาพจะมุ่งทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด และอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานแบบดิจิทัลต้องมาก่อน” นายชารัด กล่าว

นายชารัด กล่าวว่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่รวดเร็ว ทำให้การตัดสินใจต้องรวดเร็วมากขึ้น และอยู่บนฐานของความต้องการของลูกค้ามากขึ้น พนักงานขององค์กรจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างศักยภาพและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ โดยดีแทคมีแนวคิดแบบ tight-loose-tight เพื่อให้องค์กรสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายต้องชัดเจนแม่นยำ แต่เมื่อปฏิบัติต้องยืดหยุ่นพอ ขณะเดียวกัน ต้องรักษาสัญญาเพื่อให้ได้เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเชื่อว่าวิถีการทำงานที่ยืดหยุ่นจะยังอยู่ไปอีกนาน และเป็นหนทางเดียวในการบริหารคนในองค์กรในบริบทเช่นนี้ ซึ่งผลจากการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ ทำให้องค์กรรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น

“ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช่องทางและวิถีการทำงานใหม่ๆ ในการทำงาน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วในการทำงานปัจจุบันที่ 70% ของพนักงานไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศ สะท้อนถึงการคงอยู่ของวิถีการทำงานแบบยืดหยุ่นนับต่อจากนี้ไป” นายชารัด กล่าว

Advertisement

นายชารัด กล่าวว่า ทั้งนี้ ดีแทคไม่หยุดพัฒนาเทคโนโลยีในการสื่อสารให้ล้ำสมัยเพื่อรองรับการใช้งานทำให้เพิ่มประสบการณ์ลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น เราต้องการให้ลูกค้าได้ทดสอบเพื่อได้รับประสบการณ์ คลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ หรือย่านความถี่สูง ซึ่งเป็นคลื่นที่มีความสามารถในการนำมาใช้งานเพื่อความเร็วสูงสุดในการรับส่งข้อมูล และยังสามารถเพิ่มความจุของช่องสัญญาณในปริมาณมหาศาลที่มีความแม่นยำในการใช้งาน สำหรับการรองรับ 5G ไม่ใช่แค่การใช้งานบนมือถือ แต่สามารถนำมาเชื่อมต่อ Massive IoT ในอนาคตได้อย่างแท้จริง และสมาคมจีเอสเอ็มรายงานในเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า ระบุว่ามี 70 อุปกรณ์ที่รองรับแล้ว

“ปีนี้ดีแทคมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนเสาสัญญาณจำนวน 20,000 สถานีฐาน ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับการให้บริการ 4G และ 5G ทั่วประเทศ รองรับการใช้งานที่ไม่ได้มีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเฉพาะพื้นที่ในเมือง ดีแทคมองว่ามีบริการที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการด้วย TDD massive MIMO ที่มีอยู่ และไม่ได้มองว่า 5G ไม่สำคัญ” นายชารัด กล่าว

นายชารัด กล่าวว่า มุมมองเกี่ยวกับการวางแผนคลื่นความถี่ของประเทศไทยนั้น รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรนำคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ มาจัดสรรเพื่อใช้พัฒนา 5G เนื่องจากคลื่นความถี่สำคัญ เพราะ 70% ของการทดลองทดสอบ 5G ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทั่วโลกเลือกใช้คลื่นในย่านนี้ เพราะมีระบบนิเวศรองรับมากเพียงพอ อาทิ อุปกรณ์มือถือ แอพพลิเคชั่น เพื่อการใช้งานในระดับอุตสาหกรรม ที่หลากหลายและครบถ้วนมากกว่า อันจะทำให้ 5G ที่พัฒนาอยู่บนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ดังกล่าวนี้ มี economy of scale มากกว่าย่านที่ให้บริการอยู่

Advertisement

“ถึงปัจจุบันนี้ กสทช. ได้เชิญผู้ประกอบการภาคีที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นเรื่องดีแล้ว แต่เราต้องการเห็นความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการเตรียมพร้อมคลื่นดังกล่าวให้นำมาใช้งานได้ หรือรีฟาร์ม และกรอบเวลาในการประมูล เพื่อให้คลื่นพร้อมถูกนำมาใช้งานได้ในทันทีหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของการครอบครองซึ่งปัจจุบันบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ใช้งานสำหรับดาวเทียมไทยคม 5 และไทยคม 5 ขณะนี้ก็ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว และบริษัทไทยคมจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 21 กันยายน 2564” นายชารัด กล่าว

นายชารัด กล่าวว่า วาระเร่งด่วนของประเทศไทยขณะนี้ คือ เรื่องการกระจายสัญญาณในแต่ละพื้นที่ และความสามารถในการรองรับการใช้งานสำหรับคนไทยทุกคน เนื่องจากการไร้แผนรองรับการพัฒนา 5G อย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอย่างอื่น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างชุมชนเมืองและชนบท คนรวยและคนจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image