เฉลียงไอเดีย : มรกต เธียรมนตรี กางแผน‘ทีโอที’ควบรวม‘แคท’

เฉลียงไอเดีย : มรกต เธียรมนตรี กางแผน‘ทีโอที’ควบรวม‘แคท’

‘มรกต เธียรมนตรี’กางแผน‘ทีโอที’ควบรวม‘แคท’
จูนแนวคิดตรงกันแล้ว หาโซลูชั่นร่วมเพื่อลูกค้า

ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการทำงานจากที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม คือการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จึงร่วมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายบริการโทรคมนาคมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยสนับสนุนบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ แพคเกจพิเศษเน็ตอยู่บ้านความเร็ว 100/50 เมกะบิต (390 บาทต่อเดือน) ฟรี ให้แก่ประชาชนเป็นเวลา 3 เดือน

และความร่วมมือของสองหน่วยงานครั้งนี้ เป็นการปูทางไปสู่การควบรวมกิจการเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ซึ่ง นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ระบุว่า อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับขึ้น เพื่อให้สามารถประกาศใช้โครงสร้างใหม่ได้ภายใน 1 ตุลาคม 2563

Advertisement

เป็นขนาดโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมกับโครงสร้างองค์กรของแคท จากที่ทีโอทีมีรองกรรมการผู้จัดการ รวม 14 คน คาดว่าจะเหลือประมาณ 8-9 คน ใกล้เคียงกับแคทมีรองกรรมการผู้จัดการอยู่ 9 คน

รักษาการเอ็มดีย้ำว่า ที่ผ่านมาทีโอทีได้ปรับโครงสร้างองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกับปริมาณงานที่เกิดขึ้น “10 ปีที่แล้ว ทีโอทีมีพนักงาน 24,000 คน มี 39 ฝ่าย ปัจจุบันพนักงานเหลือ 12,000 คน แต่กลับมี 83 ฝ่าย มีรองกรรมการผู้จัดการ 14 คน ดังนั้น ธุรกิจไหนที่เป็นธุรกิจหลักที่ทีโอทีมีความได้เปรียบ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมยังอยู่ ขณะที่บางธุรกิจหากรวมกันได้ต้องรวมกัน ส่วนการลดจำนวนฝ่ายอาจไม่สามารถลดได้มากเพราะคนทำงานหลักคือฝ่าย จะสร้างความไม่พอใจหรือผลกระทบต่อพนักงานได้ ได้คาดว่าจะลดลงเหลือประมาณ 60 ฝ่าย ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอยู่ 27 คน อาจจะไม่ได้ลดมากเพราะตำแหน่งนี้เป็นกำลังสำคัญในการทำงาน”

สำหรับแนวคิดการปรับโครงสร้าง คุณมรกตบอกว่า เป็นจังหวะที่ต้องทำ เพราะตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่เกษียณไปแล้ว 2 คนเมื่อปีก่อน และกำลังจะเกษียณอีก 4 คนในสิ้นกันยายนนี้ จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างให้เสร็จก่อนการประกาศใช้โครงสร้างใหม่ 1 ตุลาคมนี้ เบื้องต้นได้หารือกับรองกรรมการผู้จัดการที่เหลืออยู่บ้างแล้ว ทุกคนต่างเห็นพ้องในทิศทางเดียวกัน

Advertisement

“ถามว่าตอนนี้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหรือยัง ก็ยัง แต่ใกล้แล้ว มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องเสนอบอร์ดพิจารณาให้รอบด้าน แต่การทำองค์กรให้กระชับก่อนควบรวมถือเป็นสิ่งที่ต้องทำ ตอนนี้ทั้งทีโอทีและแคทต่างมีความเห็นสอดคล้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่มีอารมณ์แข่งขันกันเองว่าใครต้องครองธุรกิจไหน แต่จะหาโซลูชั่นร่วมกันเพื่อไม่ให้ลูกค้ากระทบ นี่คือสิ่งสำคัญ” คุณมรกตกล่าว

สำหรับธุรกิจที่ทีโอทีโฟกัสจะเน้นการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ภายใต้แนวคิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น 5G เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน โครงการท่อร้อยสาย ซึ่งล่าสุด คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ทีโอทีดำเนินการโครงการท่อร้อยสายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร “กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอเป็นกรณีศึกษาโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อป้องกันการทุจริต จากที่กรุงเทพมหานครมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด คิดราคาค่าเช่าแต่ไม่สามารถลดค่าเช่าได้ ต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้เงินจากกองทุนวิจัยพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือยูโซ่ แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพธนาคมไม่มีความสามารถในการบริหารต้นทุนการก่อสร้าง แต่ทีโอทีสามารถลดราคาได้ ดังนั้น กสทช.ควรมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ”

ทั้งนี้ ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ คือ 1.ให้กระทรวงดีอีเอส กสทช. ทีโอที และแคท ร่วมดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั้งในส่วนของการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ การก่อสร้าง และการบริหารจัดการท่อร้อยสายให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ เสถียรภาพของโครงข่ายสื่อสาร ความมั่นคงของประเทศ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

2.ให้กรุงเทพธนาคมเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เพื่อให้สามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้ ให้รวมถึงบริษัทหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือหุ้นเกิน 5% และ 3.พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องของขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสาย ตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดย กสทช.กับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ควรพิจารณาร่วมกันเพื่อให้อนุญาตการใช้สิทธิแห่งทางและอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง

ฉายภาพให้เห็นแล้ว หลังจากนี้รอไฟเขียว…ลงมือทำสู่เป้าหมาย

อัมพวัน อยู่กระทุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image