คิดเห็นแชร์ : ราคาทองคำ แพงเกินไปหรือยัง?

คิดเห็นแชร์ : ราคาทองคำ แพงเกินไปหรือยัง?

คิดเห็นแชร์ : ราคาทองคำ แพงเกินไปหรือยัง?

ราคาทองคำ ในตลาดโลกที่ปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดเกินกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าผู้อ่านบทความน่าจะได้รับข้อมูลข่าวสารการวิเคราะห์ถึง “เหตุผลที่ราคาทองคำขึ้น” และ “แนวโน้มราคาทองคำ” กันมามากแล้ว และส่วนใหญ่จะเป็นการวิเคราะห์ว่าราคาทองคำปรับตัวขึ้นเป็นผลจากนักลงทุนในตลาดการเงินมองเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากวิกฤตโควิด-19 อย่างไรก็ดี ผมขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ทองคำ แต่เนื่องจากผมเป็นนักวิเคราะห์ด้านการเงินที่ต้องการงานวิจัยเชิงประจักษ์ ที่ต้องมีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติในการวิเคราะห์ จึงจะมีหลักให้ยึดในการวิเคราะห์แนวโน้มราคาสินทรัพย์ใดๆ ในอนาคต บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมจึงขอหยิบยกบทความทางวิชาการและการศึกษาข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับราคาทองคำมาวิเคราะห์โอกาสและความเป็นไปได้ของราคาทองคำในอนาคต เผื่อว่าผู้อ่านจะสามารถหยิบยกแนวคิดในบทความนี้ไปประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ในอนาคต โดยบทความ Gold, the Golden Constant, COVID-19, “Massive Passives” and Déjà vu ที่เขียนโดย Erb Claude, Harvey, Campbell R., และ Viskanta Tadas ที่เพิ่งเผยแพร่เร็วๆ นี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ

ราคาทองคำที่ปรับปรุงด้วยเงินเฟ้อ (Real gold price, Inflation-adjusted) ในปัจจุบันอยู่ที่ราว 7.5 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ (เมื่อปรับเป็นราคาทองคำในตลาดโลกจะอยู่ที่ 1,950 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์) ยังต่ำกว่าระดับสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2523 ที่ระดับ 8.74 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ โดยในช่วงปี 2523 เกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แล้วตามมาด้วยภาวะเงินเฟ้อ หรือที่เรียกกันว่า “Stagflation 1980” ราคา Real gold price ปรับขึ้นสะท้อนความกลัวเงินเฟ้อในขณะนั้น (เป็นการย้ำว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หรือ Inflation-hedge) ขณะที่ Real gold price ที่ปรับขึ้นในปัจจุบันนั้นอาจเป็นการสะท้อนความกลัวภาวะเงินเฟ้อที่อาจจะตามมาจากนโยบายการเงิน-การคลังทั่วโลกในขณะนี้ก็เป็นได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังพบว่า Real gold price มีความสัมพันธ์เชิงลบกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate, Inflation-adjusted) ผมขออธิบายถึงหลักการของความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับราคาทองคำก่อน จะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ โดยปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยจะผกผันกับราคาพันธบัตรรัฐบาล (ดอกเบี้ยขึ้น-ราคาพันธบัตรลง / ดอกเบี้ยลง-ราคาพันธบัตรขึ้น) และเมื่อเราพิจารณาว่า ทองคำคือสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยงด้านเครดิต (ใกล้เคียงกับ Risk free) และมีมูลค่าในตัวเอง ดังนั้นเราอาจพิจารณาทองคำเป็นสินทรัพย์ใกล้เคียงพันธบัตรได้ และหากสมมุติฐานดังนี้ ราคาทองคำจะปรับขึ้น-ลง ในทิศทางตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ย และผลการศึกษาข้อมูลสถิติก็เป็นจริงเช่นนั้น Real gold price สัมพันธ์เชิงลบกับ Real interest rate อย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันกองทุนรวม ETF (Gold ETFs) ที่เริ่มเกิดขึ้นในปลายปี 2547 มีผลอย่างมากต่ออุปสงส์ทองคำในตลาดโลก โดยทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และหากศึกษาข้อมูลตั้งแต่ปลายปี 2547 พบว่าการเพิ่ม-ลด การถือครองทองคำโดยกองทุนรวม ETF ทองคำ มีผลต่อReal gold price โดยตรงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ตามหลักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป เมื่อกองทุนรวม ETF เข้าซื้อทองคำ ราคาทองคำก็จะปรับขึ้นนั่นเอง อย่างไรก็ดี สำหรับประเด็นนี้จากมุมมองส่วนตัว ผมประเมินว่าอาจไม่สามารถใช้ได้จริงกับการวิเคราะห์การลงทุนในอนาคต เนื่องจากเราจะเห็นการถือครองทองคำของกองทุน ETF เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั่นก็ต่อเมื่อกองทุนรวม ETF มีการเข้าซื้อหรือขายแล้ว

Advertisement

ดังนั้น โดยสรุปแล้ว หากอิงจากปัจจัยต่างๆ จากข้อมูลสถิติข้างต้นจึงอาจสรุปได้ว่า ราคาทองคำจะขึ้นต่อได้ต่อเมื่อ i) อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง ซึ่งจะทำให้ Real gold price ยืนได้ในระดับปัจจุบันหรือสูงกว่า ii) ราคาทองคำที่ซื้อขายกันในตลาดฯ จะปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อในอนาคตปรับขึ้นจากมาตรการการเงินและการคลังของธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลก ราคาทองคำที่ซื้อขายในตลาดโลกก็จะปรับขึ้นต่อนั่นเอง หากใช้ 2 ปัจจัยนี้มาประเมินแนวโน้มราคาทองคำในอนาคต

ซึ่งผมประเมินว่าใน 1-2 ปี ข้างหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะยังต่ำต่อเนื่องเพื่อประคองภาวะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับขึ้นสะท้อนการอัดฉีดเม็ดเงินทั่วโลก และรวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงประเมินว่าโอกาสที่ราคาทองคำในตลาดโลกจะปรับขึ้นต่อหลังการพักฐาน และทำจุดสูงสุดใหม่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ดี สำหรับราคาทองคำในประเทศไทยจะมีอีกปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงคือ อัตราแลกเปลี่ยน “ค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐ” ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศเคลื่อนไหวแตกต่างจากราคาทองคำในตลาดโลกได้ ถ้าค่าเงินบาทอ่อน (แข็ง) จะเป็นบวก (ลบ) ต่อราคาทองคำในประเทศ ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มค่าเงินบาทอย่างน้อยในไตรมาส 3/63 มีแนวโน้มอ่อนค่า เป็นบวกต่อราคาทองคำในประเทศ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image