“เอสเอ็มอี” วอนธปท.เร่งช่วยรายย่อย ยิง “ลูกซอง” บ้างอย่าส่องแต่ “ปืนใหญ่”

“เอสเอ็มอี” วอนธปท.เร่งช่วยรายย่อย ยิง “ลูกซอง” บ้างอย่าส่องแต่ “ปืนใหญ่”

น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านโครงการปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอีวงเงิน 50-500 ล้านบาท หรือดีอาร์ บิซ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ในเบื้องต้นถือเป็นมาตรการที่ดี ทางธปท.ได้แจ้งให้ทราบก่อนจะมีการแถลงข่าวออกไป โดยธปท.แจ้งว่าสาเหตุที่เลือกกลุ่มนี้เพราะมีสถิติว่าเป็นหนี้ก้อนใหญ่ เป็นหนี้หลายธนาคาร หลายเจ้าหนี้ คือการช่วยกลุ่ม 50-500 ล้านบาทขึ้นไป แต่ว่าหลายคนก็มีคำถามว่าแล้วกลุ่มต่ำกว่านั้นจะช่วยอย่างไร ตอนไหนทาง ธปท.ตอบมาว่าขอช่วยกลุ่มนี้ก่อน เป็นคำตอบที่ทางสมาพันธ์ก็ฝากไว้ว่าวิธีคิดแบบนี้อาจทำให้กลุ่มเล็กต่ำกว่า 50 ล้านบาท ต้องแย่ลงแน่เลย อยากให้ทุกฝ่ายมองความอยู่รอดของธุรกิจรายย่อยช่วง 3 เดือนถึงสิ้นปีนี้ เพราะสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้เหมือนการยิงปืนใหญ่อยู่ อยากให้ยิงลูกซองบ้าง

” ธปท.แจ้งว่า สำหรับรายเล็กๆ สามารถไปคุยกับทางธนาคารได้เอง เพราะจำนวนเจ้าหนี้เป็นรายเดียว แต่ทางสมาพันธ์มองว่าถ้ายังไม่มีมาตรการจาก ธปท.ออกมาช่วยรายเล็กๆ ลูกหนี้ทั่วไปอาจมีหน้าหนี้มากกว่า 1 รายคงไม่มีใครเดินเข้าไปแล้วบอกว่าให้เจ้าหนี้รวมหนี้ให้หน่อย อย่างไรก็ตาม ทางสมาพันธ์ก็เห็นความตั้งใจของ ธปท.ในการช่วยกลุ่มที่มีความซับซ้อนก่อน แต่บอกว่าปัญหาเอสเอ็มอีรายเล็กรอไม่ได้ ถ้าต้องรอ 50-500 ล้านบาทลงตัวแล้วไปช่วยรายเล็ก ก็ไม่รู้จะได้รับการช่วยเหลือเมื่อไหร่ ธรรมชาติของลูกหนี้ต่างกัน สถิติก็ออกมาชัดเจน ก็อยากให้ ธปท.พิจารณาอีกครั้ง อยากให้เร่งช่วยรายเล็ก” น.ส.โชนรังสีกล่าว
น.ส.โชนรังสีกล่าวว่า ตอนนี้จำนวนเอสเอ็มอีที่กำลังเดือดร้อนมีจำนวนมาก แบ่งย่อยได้หลายกลุ่ม อย่างกลุ่มบุคคลธรรมดา ทาง ธปท.มีหมอหนี้ให้คำปรึกษาอยู่แล้ว ตัวอย่างหนี้บัตรเครดิต กลุ่มนี้จำนวนมากอยู่แล้ว อีกกลุ่มคือ เอสเอ็มอีที่ผูกกับธนาคารของรัฐ คือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีดีแบงก์ ส่วนใหญ่หนี้จะอยู่ระดับ 3-5 ล้านบาท กลุ่มนี้เข้าใจว่ามีลูกหนี้รายย่อยอยู่ไม่ถึง 1 แสนราย ส่วนเอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาจะมีบัญชีอยู่กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่อยู่กับเอสเอ็มอีดีแบงก์

ล่าสุดทราบว่าบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ตั้งศูนย์โรงพยาบาลเรื่องหนี้ และเช่าพื้นที่ใต้ตึกเอสเอ็มอีดีแบงก์ เรื่องนี้ดีเพราะจะช่วยเอสเอ็มอีรายย่อยและรายกลาง เพราะเปิดให้คำปรึกษาเรื่องนี้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อลดภาระผู้ประกอบการ ถือเป็นทางออกที่ดี แต่ประเมินแล้วยังไม่ครอบคลุมทุกธนาคาร ผู้ให้คำปรึกษาเป็นผู้มีประสบการณ์สูง เกษียณอายุจากธนาคาร แต่มีไม่กี่คน จึงอยากฝากให้โครงการดีๆ แบบนี้มีการก๊อบปี้และทำในทุกจังหวัด มีเจ้าภาพแต่ละจังหวัด อาทิ เอสเอ็มอีดีแบงก์ ร่วมกับ บสย.และไปตั้งอยู่ศูนย์ใหญ่ของเอสเอ็มอีดีแบงก์ ในจังหวัดต่างๆ เพราะหากอยู่ที่กรุงเทพฯอย่างเดียว จากการสอบถามแล้ว การให้บริการจะมีจำนวนจำกัด จึงรู้สึกเสียดาย อยากให้ดำเนินการทั่วประเทศ เพื่อให้เอสเอ็มอีทั้งหมดเข้าถึงได้Ž น.ส.โชนรังสีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image