กลุ่มประมงเตรียมเฮ! กรมฯ เล็งผ่อนคลายกฎ

กลุ่มประมงเตรียมเฮ! กรมฯ เล็งผ่อนคลายกฎ

กรณี นายบุญชู แพใหญ่ นายกสมาคมการประมงจังหวัดพังงา ระบุถึงผลการประชุมของสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงไม่ยุติธรรมเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง และขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปรับแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง พร้อมขอความชัดเจนภายใน 7 วัน ประกอบด้วย หยุดกฎหมายที่เกี่ยวกับประมงทั้งหมด แก้ไขกฎหมายประมง เร่งซื้อเรือออกนอกระบบ ยกเลิกการบังคับระบบติดตามเรือหรือวีเอ็มเอส ในเรือที่ต่ำกว่า 30 ตันกรอส และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางกฎหมายประมงที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงทั้งระบบที่สั่งสมมาช้านานในทุกขั้นตอนกระบวนการอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวประมงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายสำคัญให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเพื่อให้การใช้ประโยชน์ของทรัพยากรประมงในประเทศเกิดความยั่งยืน และต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชาวประมงเป็นสำคัญ

นายมีศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของรายละเอียดในการดำเนินการ ประกอบด้วย 1.การผ่อนคลายกฎ ระเบียบ คำสั่งที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง ในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ตามที่สมาคมเรียกร้องนั้น คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมง เพื่อพิจารณากลั่นกรองการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานประมง ขณะนี้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เกิดความเหมาะสม เพื่อผ่อนปรนและช่วยเหลือชาวประมงแล้วกว่า 12 เรื่อง อาทิ การปรับปรุงกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ.2562 เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการทำประมงของชาวประมง ยืดหยุ่นให้สามารถแก้ไขใบอนุญาตได้

นายมีศักดิ์ กล่าวว่า 2.การเสนอแก้ไขพระราชกำหนดการประมง มีการเสนอให้แก้ไขใน 18 มาตรา ประกอบด้วย ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับประมงพื้นบ้าน 3 มาตรา และประมงพาณิชย์ 15 มาตรา ในกระบวนการการแก้ไขกฎหมายนั้น ต้องเป็นไปตามกลไกการนำเสนอกฎหมายตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ และเสนอคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติพิจารณาต่อไป 3.ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว มาตรการในการนำเรือออกนอกระบบที่ชาวประมงได้ยื่นแจ้งความประสงค์ แบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) มีจำนวน 568 ลำ ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว จำนวน 305 ลำ ระยะที่ 1 ช่วงที่ 1 จำนวน 252 ลำ วงเงินเยียวยาประมาณ 469 ล้านบาท และกรมได้จ่ายชดเชยเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 13 มีนาคม 2563 ระยะที่ 1 ช่วงที่ 2 จำนวน 53 ลำ วงเงินเยียวยาประมาณ 294 ล้านบาท ได้จ่ายเงินงวดแรก 30% ไปแล้ว และเมื่อเจ้าของเรือทำลายเรือเรียบร้อยแล้วจะจ่ายส่วนที่เหลืออีก 70% คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม 2563

Advertisement

นายมีศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการในระยะที่ 1 ช่วงที่ 3 ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลให้นำเรือออกนอกระบบในส่วนที่เหลืออีก 263 ลำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการเยียวยาตามมาตรการลดจำนวนเรือประมง เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนของคณะทำงาน ตรวจสอบประวัติความถูกต้อง คุณสมบัติเรือประมงและเจ้าของเรือ จะเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2563 และนำเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนกันยายน 2563 เพื่อเสนอของบประมาณต่อรัฐบาลต่อไป ระยะที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง แต่เจ้าของเรือมีความประสงค์นำออกนอกระบบ จำนวน 2,505 ลำ ขณะนี้ อยู่ระหว่างกรมพิจารณาหลักเกณฑ์ในการนำออกนอกระบบให้สอดคล้องกับความสามารถในการทำการประมงของเรือประมง เพื่อนำเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป

นายมีศักดิ์ กล่าวว่า 4.ยกเลิกระบบติดตามเรือ หรือวีเอ็มเอส ปัจจุบันการติดตั้งวีเอ็มเอส สำหรับเรือต่ำกว่า 30 ตันกรอส ภาครัฐยังไม่มีนโยบายในการกำหนดให้มีการติดตั้ง อย่างไรก็ตาม เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบติดตามเรือที่มีความเหมาะสมได้จัดทำการทดสอบระบบติดตามเรือกับเรือ 3 กลุ่ม ได้แก่ เรือประมงพื้นบ้าน 10 ลำ เรือขนาดตันกรอส 10-29.99 จำนวน 30 ลำ และเรือขนาดตันกรอสตั้งแต่ 30 ขึ้นไป จำนวน 10 ลำ
นายมีศักดิ์ กล่าวว่า 5.มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามกฎหมาย กรมได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย อาทิ โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง วงเงินงบประมาณ 1.03 หมื่นล้านบาท เปิดรับสมัครผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ผลการดำเนินการถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2563 มีผู้ประกอบการประมงที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการจำนวน 2,824 ราย เรือประมง 3,363 ลำ รวมวงเงินสินเชื่อที่ต้องการประมาณ 4,517 ล้านบาท

“กรมเข้าใจและไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง แต่ในทุกการปรับเปลี่ยนนั้น ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบเป็นไปตามกติกาสากล เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมง ควบคู่ไปกับวิถีความเป็นอยู่ และอาชีพของพี่น้องชาวประมงที่มั่นคงผู้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายมีศักดิ์ กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image