ข้องใจ ‘รฟม.’ รื้อเกณฑ์คัดผู้ชนะประมูล ‘สายสีส้ม’ ส่อวาระซ่อนเร้นเอื้อบางราย

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม แหล่งข่าวในวงการรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ระยะทาง 35.9 กม.วงเงินลงทุนกว่า 1.4 แสนล้านบาท มีมติให้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลโครงการใหม่ จากการพิจารณาชี้ขาดข้อเสนอทางการเงิน โดยยึดผลประโยชน์สูงสุดของรัฐเป็นเกณฑ์ มาเป็นการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคและการเงินควบคู่กันไปนั้น เป็นการเอื้อให้กับใครหรือไม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด ตั้งแต่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างประกาศเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีกระแสข่าวว่ามีความพยายามจะปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลโครงการนี้ เพื่อช่วยเหลือเอกชนบางราย ซึ่งในระยะหลังเอกชนรายดังกล่าวไม่ได้งานประมูลสัมปทานโครงการรัฐเกือบทุกโครงการ

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อ รฟม.เตรียมเปิดประมูลสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เพื่อจัดหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ทั้งในส่วนของงานโยธา สายสีส้มส่วนตะวันตกที่จะให้เอกชนดำเนินการก่อสร้าง โดยรัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้ตามจริงแต่ไม่เกิน 90,000 ล้านบาท และพ่วงสัมปทานระบบรถไฟฟ้าและบริหารรถไฟฟ้าทั้งโครงการ 30 ปี จึงมีกระแสข่าวมาโดยตลอดว่ามีใบสั่งให้ รฟม.ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประมูลโครงการนี้ใหม่ จากเดิมเมื่อผู้รับเหมาผ่านเกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิคแล้วจะวัดกันที่ผลตอบแทนทางการเงิน เปลี่ยนมาเป็นการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคและราคาประกอบกัน โดย รฟม.จะมีประเมินข้อเสนอของเอกชนใหม่ ที่ไม่ได้อิงผลตอบแทนทางการเงินสูงสุดเป็นเกณฑ์

“แล้วข่าวลือก็เป็นจริง หลังคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (คณะกรรมการตามมาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ) จัดประชุมแบบเร่งด่วนก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ พร้อมสั่งเลื่อนการยื่นซองประมูลออกไปอีก 45 วัน เป็นต้นเดือนพฤศจิกายนนี้” แหล่งข่าวกล่าว

Advertisement

แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้หลายฝ่ายจะออกมาทักท้วงเนื่องจากเป็นการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูลที่อาจก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนบางราย และยังแตกต่างไปจากการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่ รฟม.เปิดประมูลก่อนหน้านี้ ที่ไม่เคยมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขประมูล ประกอบกับการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ นั้น บริษัทเอกชนที่ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิค ย่อมถือได้ว่ามีมาตรฐาน มีประสบการณ์ และความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน ขณะที่การทำสัญญากับรัฐเองก็ยังต้องจัดทำแบงก์การันตีเป็นหลักประกันความสำเร็จในการดำเนินโครงการด้วย จึงไม่เข้าใจเหตุผลที่ รฟม.จะอ้างว่าจำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านอื่นนอกเหนือจากผลประโยชน์สูงสุดที่รัฐจะได้รับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image