‘ปรีดี’ เสริมความมั่นใจนักลงทุน เชื่อปี 64 ‘จีดีพี’ ไทยดีดตัว 4-5%

‘ปรีดี’ เสริมความมั่นใจนักลงทุน เชื่อปี 64 ‘จีดีพี’ ไทยดีดตัว 4-5%

จีดีพี // ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงามสัมมนาไทยแลนด์ โฟกัส 2020 จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวในงานสัมมนาว่า กระทรวงการคลังมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือเศรษฐกิจและธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะความไม่แน่นอน วัคซีนป้องกันโรคไวรัสจะมีความชัดเจนในช่วงใด โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางการช่วยเหลือธุรกิจในภาวะเช่นนี้ ดังนี้

1.การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย (เอสเอ็มอี) 2.การเตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ โดยจะกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในภาคเอกชน การสนับสนุนกลยุทธ์เพื่อสร้างงานให้แก่กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ และภาครัฐต้องเปิดรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในภาวะที่ไม่ปกติแบบนี้ยังพบว่า พื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง ส่งผลให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจมากที่สุดในภูมิภาค โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี เชื่อว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นไปแล้ว และจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2564 ที่ประมาณ 4-5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีนี้

นายปรีดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐมีการรับมือโควิด-19 ค่อนข้างดี ผ่านการประกาศล็อกดาวน์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เข้มงวดในการเข้าออกประเทศมากขึ้น รวมถึงจัดตั้งศูนย์ควบคุมโรค ขณะที่ภาคประชาชนมีการป้องการที่ดีผ่านการรักษาระยะห่างทางสังคม และการสวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ประเทศไทยค่อนข้างประสบความสำเร็จในการควบคุมเชื้อไวรัสโควิด-19

Advertisement

ส่วนการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือการวิกฤตโควิด-19 กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการทั้งหมด 3 ระยะเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือเศรษฐกิจ มูลค่ารวมประมาณ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% ต่อจีดีพี เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แพคเกจการช่วยเหลือมีผ่านโครงการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อระดมทุนช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจ รวมถึงโครงการกระตุ้นการจ้างงานและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในระดับชุมชน ซึ่งแพคเกจดังกล่าวยังรวมถึงวงเงิน 9 แสนล้านบาท ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้ดูแลเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่ามีสภาพคล่องเพียงพอในตลาดการเงินของไทยด้วย

“ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาแย่ที่สุดในรอบ 10 ปี เพราะมีปัจจัยไม่ปกติที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจอย่างโควิด-19 เศรษฐกิจของไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ยังหวังว่า การเสวนาในวันนี้จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจถึงแผนการระยะข้างหน้าที่จะเดินต่อไปได้ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นใจเศรษฐกิจไทยให้แก่นักลงทุนมากขึ้น เพื่อให้พิจารณาประเทศไทยเป็นหมุดหมายการลงทุนต่อไปได้” นายปรีดี กล่าว

นายปรีดี กล่าวว่า ทิศทางที่ประเทศไทยจะเดินต่อไปนั้น มี 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การดำเนินมาตรการที่เชื่อมโยงกัน และมีความรวดเร็วระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.การลงทุนเพื่อรับมือการเติบโตระยะยาว แม้ว่าในปัจจุบันภาครัฐและกระทรวงการคลังจะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือและประครองเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในส่วนของการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือการเติบโตระยะยาว อาทิ โครงการอีอีซี ที่ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และ 3.การดูแลความยั่งยืนทางการคลัง โดยปัจจุบันการเงินของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีระดับหนี้สินต่อจีดีพีต่ำกว่า 60% ซึ่งด้วยทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด กระทรวงการคลังต้องมั่นใจว่าเม็ดเงินช่วยเหลือเศรษฐกิจดังกล่าว จะถูกใช้ให้ถูกจุดและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย แม้ปัจจุบันยังไม่มีความต้องการกู้เงินเพิ่มเติม แต่กระทรวงการคลังไม่ได้ปิดกั้น และพร้อมที่จะพิจารณากู้เงิน หากจำเป็นต้องใช้ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image