ถาวร ร่วมประชุม รมต.ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตฯ

ถาวร เสนเนียม ร่วมประชุมรมต.ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตฯ ร่วมแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด ไทยเร่งญี่ปุ่นถ่ายทอดเทคโนโลยี ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง – ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม

นายถาวร ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีประจำกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง – ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย พร้อมด้วย นายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง – ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 12 (the 12th Mekong-Japan Economic Ministers’ Meeting) ผ่านระบบการประชุมทางไกล Videoconference โดยมี นายฮิโรชิ คาจิยามะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น (METI) เป็นประธานการประชุม ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้แทนรัฐมนตรีประจำกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ดังนี้
1. H.E. Pan Sorasak, Minister of Commerce, Cambodia
2. H.E. Mrs. Khemmani Pholsena, Minister of industry and Commerce, Lao PDR
3. H.E. Thaung Tun, Minister of Investment and Foreign Economic Relations Myanmar
4. H.E. Nguyen Chi Dung, Minister of Planning and Investment, Vietnam
5. H.E. Dato Lim Jock Hoi, Secretary-General of ASEAN

ในการนี้ที่ประชุมได้มีการหารือด้านการพัฒนาการลงทุนและการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งได้เห็นชอบร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมฯ (Joint Media Statement) และการปรับปรุงแผนปฏิบัติการแนบท้าย (Work Program) วิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระยะที่ 2 (ปี 2562 – 2566) หรือ “MIDV 2.0” ซึ่งมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านความเชื่อมโยงหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านความเชื่อมโยงด้านอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบ 2. ด้านนวัตกรรมเชิงดิจิทัล และ 3. ด้านการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ในนามของรัฐบาลไทย นายถาวร เสนเนียม ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่ช่วยกันปรับปรุงแผนปฏิบัติการแนบท้าย วิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระยะที่ 2 โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทุกประเทศต่างรับมือต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยยินดีต่อการดำเนินการปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนตามเป้าหมายของวิสัยทัศน์ MIDV2.0 ซึ่งถือเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือต่อผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19

Advertisement

ในส่วนการพัฒนาภายใต้เสาหลัก “การเชื่อมต่อหางด้านอุตสาหกรรม” ประเทศไทยมีความยินดีนำเสนอโครงการ “การถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างไทยและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ในการร่วมกันพัฒนามาตรฐานและรายละเอียดการก่อสร้างทางหลวงและสะพาน เพื่อการอำนวยความสะดวก การค้าและการลงทุนซึ่งจะเป็นประโยชน์ร่วมกันในเรื่องการข้ามแดนของคนและสินค้า โดยเฉพาะเร่งหารือในเรื่องมาตรฐานการข้ามแดนอย่างปลอดภัย และจัดตั้งระบบการคัดกรองด้านสุขภาพที่เป็นมาตรฐาน และได้ขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความร่วมมือในโครงการศึกษาการอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าระหว่างไทยและกัมพูชา บริเวณด่านอรัญประเทศ – ปอยเปต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเชื่อมโยงการผลิตอุตสาหกรรมระหว่างสองประเทศต่อไป

ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง – ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม มุ่งสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งเป็นฐานการผลิตของญี่ปุ่น ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งให้ญี่ปุ่นถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเข้มแข็ง อาทิ ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ในพื้นที่ EEC ซึ่งคาดว่าญี่ปุ่นจะเป็นกลุ่มลงทุนหลัก ในขณะเดียวกันประเทศไทยจะต้องมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในทุกระดับเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง – ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งต่อไป (ครั้งที่ 13) กำหนดจัดขึ้นในปี 2564 ณ บรูไนดาลุสซาลาม ในโอกาสการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 53

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image