“เฉลิมชัย”พร้อมทำหนังสือถึงนายกฯให้คกก.วัตถุอันตรายทบทวนแบนหลังพบเกษตรกรเดือดร้อนไร้สารทดแทน

“เฉลิมชัย” พร้อมทำหนังสือถึงนายกฯให้คกก.วัตถุอันตรายทบทวนแบนหลังพบเกษตรกรเดือดร้อนไร้สารทดแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​เกษตรและสหกรณ์ เตรียมทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนมติการยกเลิกการใช้สารพาราควอต และสารคลอร์ไพริฟอส อีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการเลขที่ กษ.0100 เพื่อนำเสนอข้อมูลชุดใหม่ นำไปสู่การทบทวนการแบน 2 สาร ดังกล่าวต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ก่อนสิ้นสุดวันผ่อนผัน คือเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563

ทั้งนี้ หนังสือยังเดินทางไม่ถึง นายกฯ แต่เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) กลุ่มที่เสนอให้แบนสารเคมี ได้เข้าพบน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​เกษตรฯ เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการตามมติ คือ เกษตรกรต้องไม่ใช้ ไม่ถือครองสารเคมีดังกล่าว หลัง 29 สิงหาคม หากไม่สามารถทำตามกฎที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดเรื่องการใช้สารฯได้ ส่งผลให้ นายเฉลิมชัย ต้องดึงหนังสือฯ ดังกล่าวกลับ

ผู้สื่อข่าวกล่าวอีกว่า แต่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม​ นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย เป็นตัวแทนเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดหญ้า เข้าพบ นายเฉลิมชัย เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการแบนพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอส โดยให้เหตุผลว่า ตั้งแต่มีการแบน 3 เดือน ได้ทดลองใช้สารทดแทน ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้ฆ่าหญ้าแทน คือ กลูโฟซิเนต ปรากฏผลการใช้ในแปลงทดลองไม่ได้ผล เกษตรกรเดือดร้อน เพราะหญ้าไม่ตาย แต่พืชหลัก คือ อ้อย และมันสำปะหลังตายเกลี้ยง

นายเฉลิมชัย กล่าวระหว่างการหารือกับเกษตรกร ว่า ผมจะทำหนังสือถึงนายกฯ อีกครั้งหลังดึงหนังสือฉบัย กษ.0100 คืน โดยจะแนบไปพร้อมข้อเสนอของเกษตรกรที่เรียกร้องถึงความเดือดร้อน ให้ทบทวนการแบนสารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอส และขอให้จัดทำหนังสือถึง คณะกรรมการอาหารและยา (อย.)​ กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ หยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอสทันที ต้องไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิถุนา​ยน 2564 เนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคคนไทย

Advertisement

“การแบนสารเคมี ต้นตอปัญหาไม่ได้เกิดจากกระทรวงเกษตร​ฯ 100% แต่ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯโดนด่ามาตลอด เรื่องนี้มันเป็นเกม แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับเกษตรกรผมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ที่ผ่านมาผมคิดตลอดเวลาว่า วิธีที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร คือ การจำกัดการใช้สารเคมี เป็นมาตรการของไทยที่คู่ค้า และทั่วโลกยอมรับ” นายเฉลิมชัยกล่าว

ด้านนายคมกฤต ปานจรูญรัตน์ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมข้าวโพดหวาน กล่าวว่า ไทยส่งออกข้าวโพดหวานมามากกว่า 20 ปี ถือว่าส่งออกอันดับ 1 ของโลก มูลค่าส่งออกมากกว่า 7,000 ล้านบาท โดยส่งออกทั้งประเทศญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู) ในแต่ละปีไม่เคยมีการพบพาราควอตตกค้าง ซึ่งคู่ค้าไม่เคยตีกลับข้าวโพดที่นำเข้าจากไทยแม้แต่ฝักเดียว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยปลูกข้าวโพดหวาน 5 แสนไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 7 ล้านไร่ ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้ยังต้องการใช้สารพาราควอต หากใช้ตามคำแนะนำถือว่าไม่เป็นอันตราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image