‘สรท.’ วอนรัฐช่วยเพิ่มเสถียรภาพค่าเงิน พร้อมแก้กฏหมายเก่า-ล้าสมัย

‘สรท.’ วอนรัฐช่วยเพิ่มเสถียรภาพค่าเงิน พร้อมแก้กฏหมายเก่า-ล้าสมัย

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบศ. วันที่ 2 กันยายนนี้ สรท.ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย แต่จะนำข้อเสนอส่งต่อให้กับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แทน โดยได้แบ่งหน้าที่ในการผลักดันข้อเสนอแนะ ซี่งในส่วนของสรท. จะเน้นการผลักดันด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์ เนื่องจากขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ต้องปรับลดเรื่องต้นทุนการระบบขนส่งโลจิสติกส์ เพราะความจริงมีการทำดัชนีประเมินผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ (เคพีไอ) วัดต้นทุนที่เหมาะสมระบบขนส่งโลจิสติกส์ต่อสัดส่วนจีดีพีไทย แต่ขณะนี้ต้นทุนดังกล่าวยังไม่ได้ปรับลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมมากนัก รวมถึงในช่วงที่เกิดการระบาดไวรัสโควิด-19 ภาครัฐจะต้องพิจารณาในเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งโลจิสติกส์ด้วย

นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า การดำเนินการของรัฐจะต้องเน้นในเรื่องกฏระเบียบศุลกากร การคมนาคมต่างๆ อยากให้กฎเหล่านี้อำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ และลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น รวมถึงอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามแผนการลงทุนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นงานด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นหลัก ทั้งทางบก ทางราก ทางน้ำ โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือ ที่ต้องการผลักดันให้ใช้งานผ่านท่าเรือชายฝั่ง เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการขนส่งต่างๆ และลดความแออัดของการจราจร เนื่องจากในปัจจุบันหากส่งสินค้าจากภาคใต้ไปยังปลายทางคนละภาค จะต้องขนผ่านรถบรรทุก ก่อนจะส่งต่อไปยังท่าเรืออีกครั้ง ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องความแออัดของการจราจร และมีปัญหาเรื่องฝุ่นเกิดขึ้น จึงอยากผลักดันให้เกิดการใช้บริการขนส่งผ่านท่าเรือชายฝั่ง อย่างำรก็ตาม ขณะนี้เกิดปัญหาขึ้นในส่วนขอท่าเรือแหลมฉบัง โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีการเรียกเก็บและตั้งระเบียบในเรื่องการใช้ท่าเอศูนย์ ทำให้ไม่ส่งเสริมการใช้งานของผู้ประกอบการ จึงอยากให้แก้ไขกฎระเบียนที่ไม่เอื้อให้เพิ่มเติม

“ในส่วนของกระแสโครงการขุดคลองไทย ที่อาจมีการนำโครงการดังกล่าวมาปัดฝุ่นใหม่ และเตรียมนำเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจขุดคลองไทยแนว 9เอ เชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ระยะทาง 135 กิโลเมตร มูลค่า 2 ล้านล้านบาท เบื้องต้นยังมองไม่ออกว่า หากมีการขุดคลองไทย จะทำให้ความมั่นคงทางทะเลดีขึ้นอย่างไร แม้จะมีการยืนยันว่า การทำโครงการดังกล่าวจะต้องยึดหลักผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงของประเทศทางน้ำเป็นหลักก็ตาม” นางสาวกัณญภัค กล่าว

นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่ต้องการให้ทำเร่งด่วน ด้านผู้ส่งออก ยังต้องการให้รัฐบาลดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากที่สุด เพราะค่าเงินมีส่วนสำคัญมากกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ และเกี่ยวข้องกับการวางแผนธุรกิจในระยะยาวด้วย เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแบบอ่อนค่าสลับแข็งค่าต่อเนื่อง จะทำให้การความสามารถในการแข่งขัน และการวางแผนธุรกิจ

Advertisement

“เรื่องเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการก่อนคือ หากจะเอาให้ง่ายและเห็นผลเร็วที่สุด จะต้องเร่งแก้ไขกฎหมายเก่าที่ล้าหลัง ซึ่งเรื่องนี้คุยกันมานานและหลายรอบแล้ว แต่ยังไม่มีการทำกิโยติน หรือปฏิรูปกฎหมายพร้อมกัน โดยจะเน้นเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งโลจิสติกส์ เพื่อให้เอื้อต่อการค้าและการขนส่งสินค้ามากที่สุด โดยขณะนี้รัฐวิสาหกิจพยามยามจะเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับการค้าที่ลดลง แต่ต้นทุนของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้น ถือเป็นการผลักภาระให้กับผู้ประกอบการเพิ่ม” นางสาวกัณญภัค กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image