ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ดันถุงมือยาง ขึ้นแท่นแชมเปี้ยน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบวงกว้างในทุกด้าน รวมถึงอุตสาหกรรมยางพารา โดย 3 ประเทศผู้นำการผลิตและจำหน่ายยางพาราของโลกที่รวมกันเป็นไตรภาคี ประกอบด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย มีสัดส่วนการผลิตต่อการใช้ประมาณ 19% ในปี 2562 ตามข้อมูลไตรภาคี แต่ละประเทศต่างได้รับผลกระทบทั้งสิ้น และพยายามแก้ปัญหาในแบบต่างๆ เพื่อลดผลผลิตและเพิ่มมูลค่ายางพารา เพื่อการสร้างรายได้

สำหรับประเทศไทย ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทย ถือเป็นประเทศผู้ผลิตและมีการส่งออกถุงมือจากยางพารารายใหญ่ป้อนทั่วโลก แบ่งเป็น ถุงมือยางธรรมชาติ และถุงมือยางสังเคราะห์ ภายใต้มาตรฐานรับรองคุณภาพสินค้า ISO 11193-1 เป็นมาตรฐานระดับสากล รวมถึงถุงมือตรวจโรคผลิตจากยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ และได้มาตรฐาน ISO 10282 สำหรับมาตรฐานถุงมือผ่าตัด

ส่วนที่หลายประเทศจำกัดนำเข้าถุงมือผลิตจากยางธรรมชาตินั้น ก็มีมาตรฐาน ASTM ของประเทศสหรัฐ เพราะคนในหลายประเทศยังมีอาการแพ้เมื่อใช้งาน

ดังนั้น ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) จึงทำการวิจัย และสามารถลดปริมาณโปรตีนละลายน้ำในถุงมือยางธรรมชาติตามมาตรฐานเอเอสทีเอ็มกำหนดได้แล้ว โดยคุณสมบัติยังเหมือนเดิม
ตามขั้นตอนการวิจัย ขณะนี้ผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เข้าขั้นตอนทดสอบระดับโรงงาน เชื่อว่าถุงมือยางของไทยมีความปลอดภัยและสามารถส่งออกไปทั่วโลกได้

Advertisement

ถุงมือยางถือเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนในกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปยางของไทย มีน้ำยาง มีการผลิตในประเทศเป็นวัตถุดิบหลัก ผลักดันเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะส่งผลต่อการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจโดยรวมและเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยางของประเทศไทยมีความเข้มแข็งในการเป็นผู้นำการผลิตและการส่งออกยาง และผลิตภัณฑ์ยางของโลก

โดยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลกให้ได้

Advertisement

“เรื่องการปั้นถุงมือยางธรรมชาติให้เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยน เป็นโอกาสที่รัฐบาลต้องคว้าไว้ เพราะหลายประเทศมีความต้องการใช้ถุงมือยางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะถุงมือยางใช้ทางการแพทย์ สำหรับไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางทางการแพทย์เป็นอันดับสองของโลก ถือว่าตอนนี้ไทยจะขึ้นแท่นเป็นฮับฐานผลิตถุงมือยางธรรมชาติ ขณะที่มาเลเซียจะใช้ส่วนผสมยางสังเคราะห์ เป็นคนละตลาด ดังนั้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น กยท.จะประสานหน่วยงานหลักๆ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผมอาจจะขอรัฐบาลฟาสต์แทร็กโครงการนี้ให้เร็วขึ้น” ณกรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ณกรณ์ กล่าวว่า ภายในปีนี้ ถุงมือยางเป็นเทรนด์ตอบโจทย์สถานการณ์โลกชัดเจนมาก เราต้องผลักดันให้ไปให้สุด อยากให้กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบ มองตลาดโปรดักต์ถุงมือยาง โอกาสขยายธุรกิจและดีมานด์ เนื่องจากหลายประเทศเจอโควิด-19 ประมาณ 85% ใช้วัตถุดิบน้ำยางไทย จึงส่งสัญญาณมาถึงไทยให้มีฐานโรงผลิต

ณกรณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกำลังผลิตปีนี้จะใช้ยางเพิ่มขึ้นและลดปริมาณการส่งออก พยายามเน้นผลิตภัณฑ์มากขึ้น ขณะเดียวกัน แนวโน้มและเทรนด์ราคายาง 1 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวขาขึ้นตลอด ปัจจุบันราคายางขึ้นไปที่ประมาณ 53-56 บาทต่อกิโลกรัม อย่างน้อยความต้องการการใช้ยังมี รัฐบาลเพิ่มดีมานด์ กยท.ลดซัพพลาย ปรับเปลี่ยนปลูกยางเป็นพืชอื่นก็จะยิ่งช่วยทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย

ช่วงนี้ราคายางพาราเริ่มขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 อยู่ที่ประมาณ 56 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นดิบอยู่ที่ประมาณ 51 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสดอยู่ที่ประมาณ 43 บาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นดิบ 49 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับระดับราคาในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา จากสถิติราคายางไทย ในอดีตปี 2554 เคยขายได้สูงถึงกิโลกรัมละ 150 บาท แต่เมื่อเกษตรกรระดมปลูกยางพารามากขึ้น ระดับราคาจึงทยอยปรับลดลง

ตามข้อมูล ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยาง 25 ล้านไร่ กยท.มองว่าไม่จำเป็นต้องลดพื้นที่ เพราะยังมีสต๊อกยางอีกกว่า 6 แสนตัน ชาวบ้านไม่ได้มีปัญหาเรื่องราคา แต่มีปัญหาเรื่องรายได้ ต้องบริหารควบคู่รายได้เกษตรกร ในจำนวนนี้ 2.17 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม กยท.มีนโยบายปรับเปลี่ยนพื้นที่ ทำสวนยางแบบเกษตรผสมผสาน จะส่งทีมเข้าไปแนะนำชาวสวนยางให้ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก คาดว่าจะสามารถลดพื้นที่ป่าได้ 5 ล้านไร่ หรือประมาณ 10% พร้อมทั้งช่วยลดกำลังผลิตกว่า 5 แสนตัน

องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนมีผลต่อราคาตลาด ขณะเดียวกัน มาตรฐานชาวสวนยางที่มีองค์ความรู้เรื่องการจัดการสวนยางแบบใหม่ อาทิ เรื่องระยะการปลูก จำนวนต้น ต้องสอดคล้องรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางยั่งยืนระดับสากล อาทิ เอฟเอสซี หรือพีอีเอฟซี และมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นสวนยางที่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะที่ขึ้นทะเบียน ขณะนี้พบว่ามีพื้นที่กว่า 8,000 ไร่ ตั้งเป้าเป็นโครงการต้นแบบภายใน 3 ปี จากเป้าหมายที่ กยท.ตั้งไว้ทั้งหมด 4 แสนไร่ พื้นที่เหล่านี้จะมีการกำหนดรูปแบบราคาให้เหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากมีมูลค่าเพิ่มจากมาตรฐานเพิ่มขึ้น มาตรฐานเอฟเอสซีจะส่งผลดีต่อต้นน้ำถึงปลายน้ำ ปัจจุบันเริ่มต่อรองกำหนดราคาได้แล้ว และยังสอดคล้องกับพันธกิจการยาง ถูกกฎหมาย ไม่ใช้แรงงานเด็ก และได้มาตรฐานสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

สำหรับงานวันยางพาราบึงกาฬจัดทุกปลายปี กยท.อยู่ระหว่างหารือ คาดว่าจะสามารถนำเสนอกับผู้จัดงานว่ารูปแบบการจัดงานต้องมีการปรับเทคนิค พื้นที่จัดงาน คอนเซ็ปต์ใหม่ ต้องกำหนดรูปแบบงานให้ชัดเจนก่อนว่าจะเป็นลักษณะใด เบื้องต้น กยท. มองพื้นที่จัดงานอื่นๆ ด้วย แต่ยังคงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการแปรรูป คิดค้นนวัตกรรม เพราะอนาคตยางชนิดใหม่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กยท.ต้องพัฒนาให้แข่งขันได้ พัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสินค้ามากขึ้น

เพราะโลกเปลี่ยนไป ปีนี้มุ่งเน้นถุงมือยาง เป็นเทรนด์สอดคล้องสถานการณ์โลกที่มีบทเรียนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความต้องการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

และไทยเองก็มีศักยภาพจะพัฒนาและเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารามากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image