‘แบงก์ชาติ’ หวั่นเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติช้า ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ทันโลก ทำปี 64 เสี่ยงต่อ

‘แบงก์ชาติ’ หวั่นเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติช้า ฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นไม่ทันโลก ทำปี 64 เสี่ยงต่อ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังติดลบ 100% เนื่องจากยังมีการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทย ส่งผลให้ไม่มีการเดินทางเข้ามาของต่างชาติต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวดีขึ้นมาก สะท้อนได้จากอัตราการเข้าพักที่ปรับเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมา ซึ่งประเมินว่าสามารถช่วยได้บ้าง แต่การเดินทางยังกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น อาทิ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทปราการ สมุทสาคร สมุทสงคราม พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี

“หวังว่าในระยะถัดไป จะสามารถหาวิธีทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้และปี 2564 แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ขึ้น เพราะหากเกิดการระบาดขึ้นอีกรอบจะทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะลำบากได้” นายดอน กล่าว

นายดอน กล่าวว่า สถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามา ในปี 2564 น่าเป็นห่วงไม่แตกต่างจากปีนี้ เพราะปี 2564 ประมาณการไว้ว่าจะเข้ามา 16 ล้านคน ซึ่งจะต้องมีการปรับลดลงอีกครั้งแน่นอน เนื่องจากกระทรวงการท่องเที่ยวประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 12 ล้านคน อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ธปท. ประเมินไว้ 4 ล้านคน โดยความเสี่ยงในปี 2564 มีมากกว่าปีนี้ เพราะหากไม่สามารถดึงนักท่องเที่ยวกลับคืนมาได้ ไทยจะเข้าสู่สถานการณ์เศรษฐกิจต่างชาติฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้น

“การเปิดรับต่างชาติต้องทำอย่างระมัดระวัง แต่เราอาจต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้อยู่ในระดับ 0 เพราะหลายประเทศก็อยู่ได้ และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ แต่หากไทยปล่อยให้เกิดเหมือนกรณีพบผู้ติดเชื้อที่จังหวัดระยอง แล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หายไปทั้งหมด จะส่งผลกระทบหนัก ทำให้ต้องหาวิธีเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์นี้ และรัฐจะต้องสร้างความมั่นใจมากขึ้นด้วย” นายดอน กล่าว

Advertisement

นายดอน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2563 ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการใช้จ่ายภาครัฐและการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน มูลค่าการส่งออกสินค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ภาวะการลงทุนยังเปราะบาง สะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวสูงขึ้น แต่ภาวะการลงทุนยังเปราะบาง สะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวสูงขึ้น โดยหากในระยะยาวยังไม่สามารถดึงการลงทุนกลับมาได้ ไทยจะไม่มีโอกาสหลุดพ้นกับดักผู้มีรายได้ปานกลาง

“ภาพรวมเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น จะส่งผลให้ธปท.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยติดลบน้อยลงหรือไม่นั้น มองว่ามีความเป็นไปได้ 2 ทาง ทั้งการปรับประมาณการให้ติดลบน้อยลง และปรับให้ติดลบมากขึ้น โดยหากประเมินจากรายเดือนที่ผ่านมา ข้อมูลทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่หากประเมินเฉพาะเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ตัวเลขเศรษฐกิจดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่หากมองไปข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนรออยู่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณการไว้ในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา มองบว่าทั้งปี 2563 จะเข้ามาที่ 8 ล้านคน แต่ขณะนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินตัวเลขที่ดีสุดเหลือ 6.7 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีค่อนข้างมาก” นายดอน กล่าว

นายดอน กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังไม่นับความเสี่ยงในการเกิดระบาดโควิด-19 ในประเทศรอบ 2 ซึ่งแม้ธปท. จะไม่ได้ให้น้ำหนักโอกาสในการเกิดขึ้นมากนัก แต่สถานการณ์ล่าสุดพบว่า ประเทศเพื่อนบ้านมีการระบาดโควิด-19 ทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น ว่าการระบาดรอบ 2 ในประเทศจะกลับมาหรือไม่ โดยในช่วง 2 วันที่ผ่าน มีตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของบางสำนักประเมินออกมาว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะติดลบ 10% ครึ่งปีแรกติดลบ 7% ซึ่งหากทั้งปีติดลบ 10% ครึ่งปีหลังจะต้องติดลบ 13% ซึ่งการติดลบจะมากกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยสาเหตุอาจประเมินจากความเสี่ยงการระบาดโควิด-19 รอบ 2 และการกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง

Advertisement

นายดอน กล่าวว่า ด้านอัตราการว่างงานดูเหมือนจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ตัวเลขที่ให้ความสนใจในขณะนี้ ไม่ใช่ตัวเลขจำนวนผู้ว่างงาน แต่เป็นผู้ที่มีงานทำ แต่รายได้ที่ได้รับลดลง เนื่องจากโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานเท่านั้น แต่กระทบกับแรงงานที่ต้องทำง่านลดลง หรือมีรายได้ลดลงจากปกติ ซึ่งคาดว่ามีจำนวนค่อนข้างมากในระบบเศรษฐกิจ จึงมีความน่าเป็นห่วงไม่แพ้กลุ่มผู้ที่ตกงานแล้ว โดยรัฐบาลได้มีมาตรการในการจ้างงานเพิ่มจำนวน 1 ล้านตำแหน่ง ผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยสภาพัฒน์ กระทรวงแรงงาน และธปท.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image