‘ธปท.’ งัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยแบบมัดหนี้รวม ลดภาระดอกเบี้ย-ชะลอเกิดหนี้เสียเพิ่ม

ธปท.’ งัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยแบบมัดหนี้รวม ลดภาระดอกเบี้ยชะลอเกิดหนี้เสียเพิ่ม

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมด้วยวิธีการรวมหนี้ หรือการมัดหนี้ ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ ในรูปแบบที่มีหนี้ต่างๆ อยู่ในสถาบันการเงินเดียวกันโดยใช้ประโยชน์จากสินเชื่อบ้านที่มีหลักประกัน สามารถนำมาค้ำประกันให้กับสินเชื่อที่เป็นบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งปัจจุบันมีลูกหนี้สินเชื่อบ้านที่มีสินเชื่อดังกล่าวพ่วงด้วย ในภาพรวมมียอดหนี้ประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาท โดยธปท. คาดว่าลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว จะได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างหนี้แบบรวมหนี้ ทั้งยังคงสถานะเป็นลูกหนี้ปกติ และสามารถใช้ประโยชน์จากหลักประกันบ้าน ช่วยลดภาระดอกเบี้ยของหนี้รายย่อยด้วยได้ โดยธปท.จะเปิดทางให้มัดรวมหนี้ดังกล่าวเกินมูลค่าหลักประกันที่เป็นบ้านได้ ซึ่งการออกมาตรการรวมหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์คนตกงานหรือรายได้ลดลงเพิ่มขึ้น อีกทั้งในระยะ 1-2 เดือน ยังคงเห็นปัญหาการเลิกจ้างเกิดขึ้นอยู่ จึงได้ให้สถาบันการเงินช่วยปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว และยังเป็นการช่วยลดปัญหาการเกิดหนี้ไม่ก่อรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นด้วย

นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า ธปท. ได้ยกตัวอย่างการปรับโครงสร้างหนี้แบบมัดรวมหนี้ว่า ลูกหนี้สินเชื่อบ้าน ได้มีการผ่อนจ่ายบ้านไประยะเวลาหนึ่ง ทำให้มีส่วนต่างของหลักประกันกับสินเชื่อบ้านอยู่ จึงสามารถใช้เป็นหลักประกันให้กับสินเชี่อรายย่อยอื่นๆ ที่ติดค้าง ผ่านการนำมารวมกับสินเชื่อบ้าน พร้อมปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงจากที่จ่ายดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ มาเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 6-8% และผ่อนค่างวดน้อยลง หรือยืดระยะเวลายาวขึ้น ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว จะช่วยรองรับทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันกรเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ที่อยู่ในเครือเดียวกัน รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อจำนวนถึง 23 แห่ง ในการพิจารณาการปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้แบงก์จะเป็นคนพิจารณาลูกหนี้ที่สามารถมัดรวมหนี้เอง เพราะรู้สถานะลูกหนี้มากกว่าใคร จากประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา ปกติแบงก์จะมีจัดกลุ่มลูกหนี้ปกติ เป็นกลุ่มสีเขียว ลูกหนี้เริ่มมีปัญหาเป็นกลุ่มสีเหลือง และลูกหนี้ใกล้เป็นหนี้เสียเป็นสีแดงส่วนวิธีการปรับโครงสร้างหนี้แบบไหนเท่าใด ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ และการเจรจาของลูกหนี้ ว่ามีความสามารถชำระอย่างไร รวมทั้งลูกหนี้ก็ไม่ต้องจ่ายค่าปรับให้สถาบันการเงินด้วย และหากวันใดมีรายได้มาขอปิดก่อน ลูกหนี้ก็สามารถแสดงความจำนงได้

มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมแบบมัดรวมหนี้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ที่ออกมา อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมา 2 ระยะ มีบางตัวที่ครบกำหนดสิ้นตุลาคม 2563 นี้ จึงให้เจ้าหนี้เป็นผู้ออกมาตรการดูแลลูกหนี้เหล่านี้ต่อไปเอง ส่วนแนวโน้มหนี้เสียในระบบ มีปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากธนาคารพาณิชย์ พยายามเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ สำหรับลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสีย สามารถขอเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ ซึ่งช่วงหลังเกิดโควิด-19 ระบาด พบว่ามีลูกหนี้เข้าโครงการจำนวนกว่า 10,000 ราย มากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีเพียง 3,000-4,000 รายเท่านั้นนางธัญญนิตย์ กล่าว

นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ธปท. ยอมรับว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ออกมาเพิ่มเติมนั้น จะทำให้เกิดข้อเสียคือ เกิดภาวะเสียวินัยทางการเงิน เพราะช่วยลูกหนี้ที่เดือดร้อน และไม่เป็นหนี้เสีย ลูกหนี้ดีไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม แต่ธปท. เห็นว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน จำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม สำหรับลูกหนี้ที่มีหนี้ข้ามแบงก์ แนะนำว่า สามารถเข้าโครงการนี้ได้ โดยจะต้องมีการรีไฟแนนซ์สินเชื่อรายย่อยอื่นๆ เข้ามาแบงก์ที่มีสินเชื่อบ้านอยู่เป็นหลัก

Advertisement

นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า สำหรับวิธีการปรับโครงสร้างหนี้แบบรวมหนี้ ลูกหนี้จะต้องมีสินเชื่อบ้านเป็นตัวหลักและไม่เป็นหนี้เสีย และมีหนี้รายย่อยตัวอื่นๆ อาทิ บัตรเครดิต พีโลน หนี้จำนำรถ ที่เป็นหนี้เสีย หรือไม่เป็นหนี้เสียนั้น สามารถขอเอาหนี้รายย่อยเหล่านี้ไปปรับโครงสร้างหนี้ โดยพ่วงหลักประกันของบ้าน ซึ่งจะทำให้สามารถได้รับการพิจารณาจากเจ้าหนี้ในการลดดอกเบี้ย ผ่อนค่างวดลดลง และขยายระยะเวลาชำระหนี้ ภายใต้การพิจารณาอนุมัติของเจ้าหนี้สถาบันการเงินนั้นๆ ว่าเป็นลูกหนี้ที่เดือดร้อน มีรายได้ในการผ่อนชำระน้อยลง และธนาคารเห็นสัญญาณการผ่อนชำระที่ลดลงหรือเริ่มชำระไม่ไหวแล้ว ซึ่งการช่วยมัดรวมหนี้รายย่อยกับสินเชื่อบ้านจะทำให้ลูกหนี้มีภาระจ่ายดอกเบี้ยที่ต่ำลง ทั้งนี้ ปัจจุบัน ดอกเบี้ยผิดนัดชำระของบัตรเครดิตอยู่ที่ 16% พีโลน 24% และจำนำรถ 25%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image