คอลัมน์ กฎหมายธุรกิจ : สมุนไพรจากสารสกัดกัญชา ไม่ใช่ยาเสพติด แต่ต้องระวัง

สมุนไพรจากสารสกัดกัญชา ไม่ใช่ยาเสพติด แต่ต้องระวัง

ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 มีมากเหลือเกิน และขยายเป็นวงกว้าง ทำให้ภาครัฐ ต้องเร่งหาธุรกรรมใหม่ ๆ มาสร้างงานก่อให้เกิดรายได้เพิ่มให้กับประชาชน เกษตรกร และ ผู้ประกอบการ หนึ่งในความพยายามนั้น ก็คือการยกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข อนุญาตให้บริษัทและบุคคลธรรมดา ผลิต ขาย และขึ้นทะเบียนตำรับ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีส่วนประกอบของสารสกัดกัญชา และสารสกัดกัญชง ที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ

คาดว่าประกาศดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายก่อนสิ้นปีนี้

ประกาศปี 2563 นี้นอกจากจะสร้างงานแล้ว ยังช่วยบรรเทาความขาดแคลนกัญชาทางการแพทย์ อันเป็นที่ต้องการของคนไข้จำนวนมากอีกด้วย

ทำไมต้องสมุนไพร ทำไมไม่ใช่ยาแผนปัจจุบัน

Advertisement

สาเหตุที่ทางการเลือก ส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือยาแผนโบราณ แทนที่จะเป็นยาแผนปัจจุบัน ก็เนื่องจากการขึ้นทะเบียนตำรายา การผลิต และการจำหน่าย ยาแผนปัจจุบันโดยทั่วไป มีความสลับซับซ้อนทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องมีการวิเคราะห์วิจัย พิสูจน์ประสิทธิผลของยาว่ารักษาอาการป่วยได้จริงหรือไม่ ต้องใช้เทคโนโลยี และการลงทุนสูง ใช้เวลานาน ในการพิจารณาอนุมัติ กว่าจะนำออกสู่ท้องตลาดได้

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะมีความยืดหยุ่นมากกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า และให้ประชาชนเข้าร่วมได้ในจำนวนมาก

Advertisement

คล้ายกับร่างพ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.กัญชา

ร่างประกาศใหม่นี้ มีความคล้ายคลึงกับ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าพ.ร.บ.กัญชา ที่คณะรัฐมนตรี อนุมัติไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ร่างพ.ร.บ. ยกเลิกข้อห้าม 5 ปี เพื่ออนุญาตให้บริษัทเอกชน บุคคลธรรมดาผู้ประกอบการ และชาวนาชาวไร่เพาะปลูก และผลิตกัญชาทางการแพทย์ได้ โดยลำพัง เฉพาะการแพทย์แผนไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่รวมยาแผนปัจจุบัน โดยไม่ต้องอาศัยหน่วยงานราชการอีกต่อไป

บัดนี้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว กำลังรอคิวพิจารณาอยู่ ก่อนที่จะวนกลับมาที่คณะรัฐมนตรี เพื่อส่งต่อให้รัฐสภา

ร่างพ.ร.บ.ต่างกับร่างประกาศ ตรงที่ ร่างประกาศกระทรวงฉบับใหม่ปี 2563 นี้เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ แม้ว่าจะอยู่ในรูปของสารสกัดกัญชา สารสกัดกัญชง และผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัด ที่นำมาใช้เป็นยาแผนโบราณ ส่วนร่างพ.ร.บ.เป็นเรื่องยาเสพติดให้โทษ ในรูปแบบของกัญชาและกัญชงทางการแพทย์ ทั้งประกาศและพ.ร.บ.จึงมีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์สอดคล้องกัน ไปด้วยกันได้

ความแตกต่างอีกข้อหนึ่ง เพราะร่างประกาศไม่ใช่ยาเสพติด จึงจะประกาศใช้เป็นกฎหมายตาม พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ส่วนร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับยาเสพติดโดยตรง จึงเป็นการแก้ไขพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กฎหมายหลักคนละฉบับกัน
ร่างประกาศ รอลงนาม เป็นกฎหมาย

ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีลงนามเป็นกฎหมายได้เลย แต่ร่างพ.ร.บ.ต้องผ่านรัฐสภาใช้เวลานานหน่อย ระหว่างที่ร่างพ.ร.บ.ยังไม่เป็นกฎหมาย ก็เซ็นประกาศให้เป็นกฎหมายไปก่อนได้ เพื่อเริ่มกระบวนการจดทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์ ออกใบอนุญาต และเริ่มการผลิตและการขาย ได้ทันเหตุการณ์

แม้ว่าร่างประกาศจะออกใบอนุญาตให้ประชาชนผลิตแปรรูป ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีส่วนประกอบสารสกัดกัญชา และสารสกัดกัญชงได้ แต่ไม่มีอำนาจอนุญาตให้เอกชนเพาะปลูกได้ เพราะประกาศเป็นเพียงกฎหมายลำดับรอง

การอนุญาตให้เอกชน นอกจากหน่วยงานรัฐ เพาะปลูกกัญชา กัญชง บัญญัติอยู่ในพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ต้องรอร่างพ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักออกมาเป็นกฎหมายก่อน แม้จะเป็นกฎหมายหลักคนละฉบับกัน

ระหว่างที่รอนี้ผู้ได้รับอนุญาตผลิตตามประกาศปี 2563 ก็รับซื้อวัตถุดิบจากหน่วยราชการ มหาวิทยาลัย และกลุ่มเกษตรกร ผู้ได้รับใบอนุญาตเพาะปลูกตามพ.ร.บ.กัญชาฉบับปัจจุบันได้

ข้อควรระวัง-ประกาศฉบับที่ 2 ปี 2562 สารสกัดกัญชา ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ แต่…

ร่างประกาศ ปี 2563 เป็นการนำประกาศ ฉบับที่ 2 ปี 2562 มาปัดฝุ่น ใช้ประโยชน์ หลังจากที่ทิ้งร้างไปปีกว่า

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 ปี 2562 ออกภายใต้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เป็นแม่แบบของการยกเว้น สารสกัดกัญชา สารสกัดกัญชง และผลิตภัณฑ์จากสารสกัด มิให้เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป หากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ประกาศฉบับที่ 2 ปี 2562 นี้กำหนด

ที่สับสนกันมากเมื่อปี 2562 ตอนที่ประกาศฉบับที่ 2 นี้ออกมาใช้ใหม่ ๆ ได้แก่ ประเด็นที่ว่า สารสกัดกัญชาและสารสกัดกัญชง ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากสารสกัดดังกล่าว เป็นยาเสพติดหรือไม่

คำตอบ: สารสกัดกัญชา สารสกัดกัญชง และผลิตภัณฑ์จากสารสกัด ไม่ใช่ยาเสพติด โดยได้รับการยกเว้น ให้หลุดไปจากพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ถ้ามีองค์ประกอบครบสองประการ (ยังมีต่อ)

วิโรจน์ พูนสุวรรณ เป็นที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส และหัวหน้าโครงการพิเศษ สำนักกฎหมายบลูเมนทอล ริชเตอร์ แอนด์สุเมธ ติดต่อได้ที่ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image