เอกชน มอง 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นมาตรการแบบรายวัน คิดไปทำไป

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

เอกชน มอง 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นมาตรการแบบรายวัน คิดไปทำไป

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยถึงกรณีศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) เห็นชอบ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า มาตรการที่ออกมาดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่เป็นเพียงมาตรการแบบรายวัน คิดไปทำไป ซึ่งการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องยาวนานแน่นอน จึงอยากเห็นมาตรการระยะยาวที่เป็นแบบแผนชัดเจน ว่าเดือนไหน วันไหนจะดำเนินการอย่างไร

นายธนิต กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นการบริโภคด้วยการแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้ประชาชนที่อายุ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 15 ล้านคน คนละ 3,000 บาท โดยให้เวลาใช้ 3 เดือน และจะกำหนดให้ใช้วันละ 100-250 บาท ซึ่งจะเป็นลักษณะร่วมจ่าย ผู้ซื้อจ่าย 50% และรัฐจ่ายให้ 50% โดยกระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไปนั้น มองว่า หากคิดจะช่วยเหลือประชาชนแล้วควรให้เป็นรูปแบบเงิน หรือรูปแบบคูปอง จะตรงจุดมากกว่า และควรกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนว่า เปิดให้เฉพาะร้านค้าหาบเร่แผงลอย หรือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เท่านั้น เพื่อให้เม็ดเงินเกิดการหมุนเวียนอย่างตรงจุด และเพื่อตัดข้อกังวลของหลายฝ่ายที่มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น และห้างสรรพสินค้า

ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวสิาหกิจ สามารถลาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา ก็เห็นด้วย เพราะข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวสิาหกิจ เป็นกลุ่มที่มีกำลังและไม่ตกงานแน่นอน ส่วนพนักงานเอกชนต้องระมัดระวัง เพราะแม้จะมีโครงการนี้แต่ใช่ว่าเขาจะใช้จ่ายเงิน ประกอบกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันได้รับเสียงตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร จึงหวังว่า มาตรการดังล่าวจะได้รับเสียงตอบรับที่ดี และสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้อย่างดียิ่งขึ้น

“ไม่มั่นใจว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 หรือไม่ ตอนนี้จึงเป็นโอกาสของเราที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพราะในแถบประเทศเพื่อนบ้านก็ติดโควิด-19 กันงอมแงม” นายธนิต กล่าว

Advertisement

นายธนิต กล่าวว่า ส่วนมาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ 3 กลุ่ม (ระดับปริญญาตรี, ปวส. และ ปวช.) ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 260,000 อัตรา โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา เป็นเวลา 12 เดือน (1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564) ตามอัตราค่าจ้างปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ระดับ ปวส. 11,500 บาทต่อเดือน และระดับ ปวช. 9,400 บาทต่อเดือน ก็เห็นด้วย เพราะเป็นมาตรการที่ดี และพยายามสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ไม่เห็นด้วย คือ ไม่ควรใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับผู้ที่ตกงานไม่จำเป็นต้องได้ 15,000 บาท อาจเป็นอัตรา 75% ของอัตราค่าจ้าง ซึ่งตามกฎหมายสามารถทำได้ โดยอาจจะปรับเวลาการทำงานให้สอดรับกับอัตราค่าจ้าง เช่น มีเวลาการทำงาน 6 ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสนับสนุนเงินค่าจ้างลดลง และนำเงินไปช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม แต่หากสถานประกอบการจะจ้างเต็มวันก็สามารถทำได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image