ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ฟันธงต่ออายุมาตรการดูแลความผันผวนหุ้นไทย จ่อหมดอายุสิ้น ก.ย. นี้
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า หากประเมินภาพรวมตลาดจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จะเห็นว่าความผันผวนยังมีอยู่ทั่วโลก โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐปรับลดลง 4-5% และปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยความไม่แน่นอนทั่วโลก ทำให้เกิดความผันผวนขึ้น จึงแนะนำให้นักลงทุนติดตามข่าวสารทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก ด้านการเตรียมพร้อมรับมือความไม่แน่นอนที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมตัวรับมือมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยได้ออกมาตรการต่างๆ อาทิ การปรับเกณฑ์มาตรการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (เซอร์กิต เบรกเกอร์) รวมถึงในช่วงที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหลักทรัพยฯ สามารถนำมาตรการออกมาใช้เพิ่มเติมในกรณีที่ตลาดเกิดความผันผวนอย่างรุนแรงได้ แต่ในกรณีที่ตลาดไม่ได้ความผันผวนรุนแรง ตลาดหุ้นไทยก็อยู่ในภาวะการซื้อขายปกติต่อไป
นายภากร กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มภาวะตลาดหุ้นในปี 2564 การประเมินภาพหุ้นไทยในปี 2564 ต้องประเมินจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ว่าจะมีความสามารถมากน้อยเท่าใด ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจของทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมด้วย โดยสิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาเป็นหลัก หากจะเข้าลงทุนในตลาดหุ้น เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน สะท้อนได้จากบางอุตสาหกรรมยังสามารถเติบโตได้ แม้มีการระบาดโควิด-19 และในบางอุตสาหกรรมก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ดีขึ้น แต่ในบางอุตสาหกรรมก็ยังไม่ได้ดูดีมากนัก โดยในช่วงที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานของออกมาคาดการณ์แล้วว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/2563 แล้ว จึงอยากให้นักลงทุนพิจารณา และวิเคราะห์ภาพรวมของอุตสาหกรรมให้ดี เพื่อประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยจะสามารถกลับฟื้นกลับมาได้ดีมากน้อยเท่าใด หรือจะเคลื่อนไหวในทิศทางใดต่อไป
“สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยเริ่มมีความผันผวนลดลง โดยขณะนี้ค่าความผันผวนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 20%-30% ลดลงจากช่วงที่ตลาดผันผวนรุนแรงในช่วงกลางเดือนมีนาคม ที่มีค่าความผันผวนพุ่งสูงถึง 200% จากช่วงภาวะปกติหรือช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ค่าความผันผวนอยู่ที่ 15% โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประเมินสถานการณ์ภาวะตลาดในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้อีกครั้ง หากค่าความผันผวนอยู่ที่ระดับ 20%-30% และตลาดไม่ได้ผันผวนรุนแรง ก็จะมีการยกเลิกมาตรการดูแลการซื้อขายหุ้น เพื่อรับมือความผันผวนของภาวะตลาดต่อไป โดยในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จะมีมาตรการกำหนดราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) ได้ไม่เกิน 15% จากเดิม 30% และมาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ ที่ปรับเกณฑ์เป็นการชั่วคราว โดยระดับที่ 1 หากดัชนีปรับตัวลดลง 8% จะหยุดการซื้อขาย 30 นาที จากเดิม10% และเกณฑ์การขายหุ้นโดยไม่มีในมือ (ชอร์ตเซล) เป็นการชั่วคราว โดยตลาดจะประเมินว่ามีความผันผวนหนักจนต้องต่ออายุมาตรการอีกหรือไม่ แต่หากมีการยกเลิกมาตรการดูแลการซื้อขายหุ้น และรับมือตลาดผันผวนดังกล่าวยืนยันว่าจะไม่ทำให้ตลาดเกิดความผันผวนแน่นอน เพราะปัจจัยหลักที่กระทบภาวะตลาดในขณะนี้คือ ปัจจัยที่เกิดขึ้นภายนอกเกือบทั้งหมด” นายภากร กล่าว
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์ประจำเดือนสิงหาคม 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยค่อนข้างทรงตัว โดยปิดที่ระดับ 1,310.66 จุด ปรับลดลง 1.3% จากเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา และปรับลดลง 17.% เทียบกับสิ้นปี 2562 แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าภาพรวมตลาดในอาเซียน ที่ปรับลดลง 19.9% จากสิ้นปี 2562 โดยหากพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่าอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นกว่าภาพรวมดัชนี ซึ่งมีกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในแดนบวก รวมถึงในเดือนสิงหาคม ยังมีสัญญาณการฟื้นตัวของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2563 ออกใาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และในบางกลุ่มธุรกิจในภาคบริการ ที่ได้อานิสงค์จากการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ที่อาจจะนำไปสู่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เร็วขึ้น
“ในเดือนสิงหาคม มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 56,512 ล้านบาท และหากพิจารณาในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 66,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยผู้ลงทุนบุคคลในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 อยู่ที่ 44.09% ของมูลค่าการซื้อขายรวมพร้อมกันยังเห็นสัญญาณการกลับมาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำตาลครบุรี และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล รวมถึงยังมีเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไออีก2 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ และ บมจ. ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป โดยมีมูลค่าการระดมทุน (ไอพีโอ) รวมกว่า 6,975 ล้านบาท” นายศรพล กล่าว