ความเชื่อมั่นปชช.ดีขึ้น ห่วงโควิดรอบ2มากกว่าปัญหาการเมือง

ความเชื่อมั่นปชช.ดีขึ้นต่อเป็นเดือนที่ 4 มองขาขึ้น ห่วงปัญหาการเมืองน้อยกว่าโควิดระบาดรอบ 2 ฟันธงศกไทยฟื้นไตรมาสแรกปีหน้า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ความชื่อมั่นของผู้บริโภคไทยเดือนสิงหาคม 2563 ทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยดัชนีความชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม(ซีซีไอ) ดัชนีความชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ดัชนีความชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 51.0 34.9 และ 58.7 ตามลำดับ เพิ่มจากเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 50.1 34.0 และ 57.7 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 43.6 49.1 และ 60.4 ตามลำดับ เพิ่มจากเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 42.6 48.4 และ 59.3 ตามลำดับ

เนื่องจากมีปัจจัยบวกเชิงจิตวิทยา ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คงดอกเบี้ย 0.50%ต่อปี รัฐบาลผ่อนปรนระยะ5 ให้กิจกรรมและธุรกิจกลับมาดำเนินการอีกครั้ง รัฐบาลทยอยออกมาตรการดูแลและเยียวยากระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวลดลง ขณะที่ปัจจัยลบ ยังมีสูง ได้แก่ ความวิตกต่อการแพร่ระบาดของโควิดในทั่วโลกและระลอก2ในไทย ความกังวลจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน อาจส่งผลไทยเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีต สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส2/2563 ลบ 12.2% และลดประมาณการทั้งปี2563 ลบ 7.5% จากครั้งก่อนลบ 5-6% รัฐบาลขยายเวลาใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อบริหารจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ราคาพืชยังทรงตัวต่ำ ประชาชนวิตกปัญหาค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือน ภาวะจ้างงาน ค่าบาทแข็ง กระทบต่อการส่งออกติดลบมากขึ้น

ทั้งนี้ในการสำรวจภาวการณ์ทางสังคม ที่สำรวจก่อนรัฐมนตรีการคลังลาออก พบว่า ประชาชนระบุว่าความสุขในการดำเนินชีวิตดีขึ้น มุมมองต่อการเมืองดีขึ้น แต่ยังกังวลเรื่องค่าครองชีพ ปัญหายาเสพติด และการจ้างงานและหนี้สิน ซึ่งทางศูนย์พยากรณ์ฯกำลังทำการสำรวจเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือน

” แนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะเป็นขาขึ้น จากหลายปัจจัยที่ดีขึ้น โดยเฉพาะหลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจผ่านจุดต่้ำสุดแล้วจากไตรมาส 2 ที่ติดลบ 12.2% อุตสาหกรรมการผลิตหลายชนิดดีขึ้น และรัฐบาลประกาศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการกระตุ้นการจ้างงาน แจกเงินลดค่าครองชีพ 3 พันบาท แนวคิดออกมาตรการชิมช้อปใช้ผ่านการลดภาษี มาตรการธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยเหลือสภาพคล่องธุรกิจ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งหากดำเนินการได้จริงในไตรมาส4ปีนี้ จะเกิดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจรวม 3 แสนล้านบาท จะกระตุ้นจีดีพีโคได้ 2-3% จึงทำให้ศูนย์พยากรณ์ฯปรับลดคาดการณ์จีดีพีทั้งปี 2563 เดิมจะติดลบ 8-10% ลดเหลือ 5.0-8.5% ซึ่งมีโอกาสลบ 7% โดยครึ่งปีหลังติดลบลดลงจากครึ่งปีแรก โดยไตรมาส 3 คาดลบ 9-10% และไตรมาส 4 ลบ5-6% โดยยังมองส่งออกปีนี้ลบ 10% ” นายธนวรรธน์ กล่าว

Advertisement

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า จากนี้หากไม่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก2ในไทย จนต้องปิดล็อกธุรกิจและประเทศ และความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงกว่าปัจจุบัน รวมถึงมาตรการรัฐออกมาต่อเนื่องและปฎิบัติได้จริง เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในไตรมาสแรกปี2564 หรือจีดีพีเป็น 0% แต่ในส่วนของเศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวกลางปี 2564 เพราะยังมีปัญหาเรื่องการระบาดของโควิดและความต้องการใช้วัคซีน รวมถึงสงครามการค้าสหรัฐและจีนจะยังมีต่อเนื่องแต่อาจไม่สร้างความวิตกอย่างที่ผ่านมาเพราะมีการปรับตัวกันแล้ว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในส่วนปัญหาการเมือง ส่วนตัวมองว่า แม้ความขัดแย้งสูงจนนายกรัฐมนตรีลาออก แต่เชื่อว่าจำนวนเสียงข้างมากของรัฐบาลจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนเดิมหรือคนที่อยู่ในครม.กลับมาอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้มาตรการต่างๆยังคงเดิม ตอนนี้ปัญหาการเมืองคือการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนการประท้วงของเยาวชนเชื่อว่าเป็นการเคลื่อนไหวต่อครั้งในระยะสั้นๆและไม่น่ามีเหตุการณ์รุนแรง โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีการยุบสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image