‘สภาพัฒน์’ เล็งชง ‘ครม.’ อนุมัติโครงการใช้เงินกู้อีก 4.7 หมื่นลบ. ยันใช้ทีเดียวหมดไม่ได้ หวั่นสถานการณ์เปลี่ยน

สภาพัฒน์เล็งชงครม.’ อนุมัติโครงการใช้เงินกู้อีก 4.7 หมื่นลบ. ยันใช้ทีเดียวหมดไม่ได้ หวั่นสถานการณ์เปลี่ยน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการใช้งบประมาณจากพ...เงินกู้มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของก้อน 4 แสนล้านบาท ที่จะใช้ในการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะนี้ได้จัดงบระยะแรก 9.2 หมื่นล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบแนวคิดและโครงการต่างๆ ซึ่งมีหลายโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วและมีอีกบางส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณา รวมถึงในช่วงบ่ายวันนี้ (9 กันยายน) จะมีประมาณ 6-7 โครงการ ที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อนำเข้าเสนอที่ประชุมครม. อีกครั้ง ซึ่งยืนยันว่าการพิจารณาโครงการที่เสนอเข้ามานั้น คณะทำงานพิจารณาด้วยความละเอียด ซึ่งหากพบว่ายังมีความไม่สมบูรณ์ ก็จะส่งกลับไปให้ปรับแก้ไข เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากที่สุดต่อไป โดยผลที่คาดว่าจะได้รับในระยะแรก ประเมินว่าจะเกิดการจ้างงาน 400,000 ตำแหน่ง กระจายเม็ดเงินลงสู่ระดับตำบล 3,000-4,000 ตำบลเป็นอย่างน้อย สร้างผลผลิตใหม่ได้เกือบ 2 เท่า และมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวนมาก รวมถึงมีแหล่งน้ำชุมชนเกิดขึ้น และการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวด้วย

นายทศพร กล่าวว่า ในวงเงิน 9.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการพิจารณาโครงการที่เสนอขอใช้งบเข้ามาแล้ว ประมาณ4.3 หมื่นล้านบาท เหลืออีก 4.7 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องพิจารณาและนำเสนอครม.ต่อไป ซึ่งจะลงในแผนงานการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และกระตุ้นการอุปโภคบริโภค ซึ่งจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยขณะนี้เงินก้อนแรกที่ลงไปปล้ว 4.3 หมื่นล้านบาท ได้สร้างการจ้างงานแล้ว 100,000 ตำแหน่ง เหลืออีก300,000 ตำแหน่ง จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะอนุมัติตามลงไป ซึ่งจะบวกกับที่รัฐบาลจะจัดโครงการจ๊อบ เอ็กซ์โปขึ้น เพื่อให้เกิดการจ้างงาน 1,000,000 ตำแหน่งขึ้นไป ในส่วนของการเยียวยาประชาชน ได้ดำเนินการแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของเงินกู้รวม 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งมีเม็ดเงินลงไปแล้ว 3 แสนล้านบาท ช่วยเหลือประชาชนได้ประมาณ 30 ล้านคน

สาเหตุที่ไม่ใช้เม็ดเงินก้อน 4 แสนล้านบาทให้หมดทีเดียว เป็นเพราะต้องประเมินสถานการณ์ และติดตามผลของเม็ดเงินที่อนุมัติเป็นระยะ โดยเฟสแรกได้อนุมัติเงินก้อน 9.2 หมื่นล้านบาท จึงต้องติดตามผลที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไรรวมถึงต้องประเมินสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร อาทิ หากมีการระบาดระลอก 2 จะทำให้ประเทศยังมีเงินเหลือในการทำงานต่อไป หรือหากไม่มีการระบาดรอบ 2 ก็จะนำเงินที่เหลือไปใช้ในแพคเกจอื่นๆ ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) มีการคิดแพคเกจใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะความกังวลในด้านการจ้างงานของกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ จึงมีแนวคิดการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ออกมา โดยจะจ่ายเงินเดือนร่วมกัน ระหว่างรัฐ 50% และเอกชน 50% มีการกระตุ้นการใช้จ่ายกับกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นหาบเร่ แผงลอย รวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศ กระตุ้นไทยเที่ยวไทย ที่อาจมีแพคเกจกระตุ้นออกมาเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่พิจารณาออกไปแล้ว โดยเรื่องทั้งหมดจะอยู่ในแพคเกจ 2 เพราะแพคเกจแรกได้ออกไปแล้วในวงเงิน 9.2 หมื่นล้านบาทนายทศพร กล่าว

นายทศพร กล่าวว่า การใช้เงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และพัฒนาสังคมนั้น จะดำเนินการผ่านการเน้นสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ โดยการพัฒนาสินค้าบริการชุมชน และท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ใช้เป็นโอกาสในการกระจายความเจริญไปสู่ระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำมานานแล้ว โดยใช้เงินกู้ที่มีต้นทุนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ในส่วนของการกระจายความเจริญไปสู่ระดับภูมิภาค จะมีการสร้างจุดในการเน้นการเจริญเติบโต เพราะไม่ได้ต้องการให้เศรษฐกิจไทย เจริญเพียงแค่ในพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล หรืออีอีซีเท่านั้น แต่ต้องการกระจายการเติบโตไปทั่วทุกภูมิภาค โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องภาคการเกษตร ที่จะมีการเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มมูลค่า และการแปรรูปให้มากขึ้น รวมถึงการการต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรมากขึ้น

Advertisement

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันนี้ (9 กันยายน) คณะกรรมการฯ จะมีการพิจารณาโครงการขอใช้เงินกู้ขนาดใหญ่ที่สำคัญๆ วงเงินรวม 2-3 หมื่นล้านบาทอาทิ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ให้เข้าไปช่วยงานเพิ่มเติมอีกประมาณ 3,000 ตำบล เกิดการจ้างงานกว่า60,000 ราย โครงการเกษตรแปลงใหญ่ จะช่วยปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตภาคการเกษตร โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ของกองทุนหมู่บ้าน เป็นการทำผลิตภัณฑ์ของชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ครม. อนุมัติไปแล้ว แบ่งเป็น 1.กระทรวงมหาดไทย 3 โครงการ ประกอบด้วยโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล วงเงิน4,788 ล้านบาท ประชาชนสมัครเข้าร่วมกว่า 73 จังหวัด ประมาณ 25,179 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ต้นแบบตำบลละ 1 ครัวเรือน รวม 337 ตำบล โดยจะสนับสนุนการจ้างงานตำบลละ 10 คน ค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท ในระยะเวลา 1 ปี

Advertisement

โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มี วงเงิน 1,080 ล้านบาท จะมีการจ้างงานอาสาบริการท้องถิ่นละ 2 คน รวมกว่า 7,000 แห่ง มีการจ้างงานกว่า 15,000 คน เพื่อเข้าไปดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สัญญาจ้าง1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนกันยายน 2564 ค่าจ้างเดือนละ 5 พันบาท และโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ วงเงิน 2,702 ล้านบาท จ้างงาน 14,000 คน สัญญาจ้าง 12 เดือน เริ่มตั้งแต่ตุลาคมนี้ ค่าแรง 15,000 บาทต่อเดือนให้เข้าไปจัดเก็บฐานข้อมูลในท้องถิ่น และบันทึกข้อมูลในระบบ เพื่อมาใช้ประโยชน์ต่อไป

2.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ วงเงิน 9,806 ล้านบาท โดยนำวงเงินดังกล่าวไปสนับสนุนแหล่งน้ำ 5,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตของเกษตรกรณ์ อีก 3,000 ล้านบาท จะเข้าไปสนับสนุนการจ้างแรงงาน และที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาท จะใช้ดูแลปัจจัยการผลิตอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 6.4 หมื่นราย พร้อมขับเคลื่อนโครงการได้ 1 ตุลาคมนี้ 3.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า ผ่านโครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟ สร้างรายได้ชุมชน วงเงิน 2,246 ล้านบาท จะเกิดการจ้างงาน 9,137 คน และ 4.โครงการพัฒนาป่าไม้ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 863 ล้านบาท แบ่งเป็น การจ้างงาน 686 ล้านบาท และค่าดำเนินการอื่นๆ อีกประมาณ 177 ล้านบาท ซึ่งจะส่งเสริมการบริโภคครัวเรือนให้เกิดรายได้ในท้องถิ่นเพิ่มเติม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image