แนะธุรกิจไทยใช้ประโยชน์ผลกระทบจาก สหรัฐ ปะทะ จีน ดันย้ายฐานผลิต

สนค.แนะธุรกิจไทยเกาะติด-ใช้ประโยชน์ รับสหรัฐ-จีน ปะทะ ส่งผลย้ายฐานผลิต-กฎระเบียบ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ออกคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือ Executive Order ให้บริษัทของสหรัฐฯ เลิกทำธุรกิจกับธุรกิจจีนและให้ลงทุนในประเทศ ใช้สินค้าในประเทศมากขึ้น นั้น สนค. ประเมินว่า การให้สัมภาษณ์ของปธน.ทรัมป์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการหาเสียง ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ และไม่มีการออกมาตรการที่เป็นรูปธรรม แนวคิดการแยกตัวของสหรัฐฯ จากจีน สะท้อนเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน ซึ่งจะเป็นเป้าหมายหลักของสหรัฐฯ ต่อไป ไม่ว่าพรรคเดโมเครตหรือรีพับลิกันจะชนะการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม การลดการพึ่งพาจีนไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น แต่ต้องใช้เวลาในการย้ายฐานการลงทุนและการผลิต โดยเฉพาะการย้ายฐานการลงทุนที่ใช้โครงสร้างการผลิตทางกายภาพสูง นอกจากนี้ การลงทุนของสหรัฐฯ ในจีนบางส่วน มีเป้าหมายเพื่อเจาะตลาดภายในประเทศของจีน

ทั้งนี้ ประเมินว่า สหรัฐ – จีน คงไม่สามารถแยกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น โดยพึ่งพาวัตถุดิบขั้นต้นและขั้นกลางระหว่างกันสูง อีกทั้งยังเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของกัน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ยา กลุ่มคอมพิวเตอร์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบ

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ในระยะสั้นสิ่งที่จะเห็น คือ สหรัฐฯ มีแนวโน้มลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีน และกระจายสินค้าส่งออกที่เคยพึ่งพาจีนไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งจีนก็อาจดำเนินการในลักษณะเดียวกัน สอดคล้องกับสถิติการค้าที่ชี้ว่าสหรัฐฯ ทยอยลดการนำเข้าสินค้าจากจีนมาตั้งแต่เกิดสงครามการค้าในปี 2561

Advertisement

สำหรับระยะกลาง-ยาว การแยกตัวระหว่างสหรัฐฯ-จีน อาจจะเกิดขึ้นบางส่วน อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในกลุ่มเทคโนโลยีเป็นอันดับแรก โดยทั้ง 2 ประเทศ จะแสวงหาพันธมิตรเพื่อแบ่งขั้วห่วงโซ่อุปทานออกเป็น 2 ฝ่าย และที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามหาพันธมิตรเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ แยกตัวออกจากจีน อาทิ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่าในส่วนของประเทศไทย แนวโน้มการแยกตัวของสหรัฐฯ-จีน จะทำให้กระแสภูมิภาคนิยม (Regionalism) มีบทบาทมากขึ้น ไทยจะต้องดำเนินนโยบายการค้าอย่างระมัดระวังและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความท้าทาย โดยการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจผ่านความร่วมมือในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ที่สิทธิประโยชน์และเป็นแต้มต่อทางการค้าและการลงทุน

Advertisement

“ทั้งนี้ ไทยจะต้องพัฒนาและยกระดับกฎระเบียบ/มาตรฐานทางการค้าให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับแนวโน้มการทำข้อตกลงทางการค้ารูปแบบใหม่ที่ครอบคลุมและมีมาตรฐานสูง เพื่อเสริมจุดแข็งและสร้างแต้มต่อให้ไทยยังคงมีบทบาทในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานภูมิภาค (RVCs) และห่วงโซ่อุปทานโลก (GVCs) ต่อไปได้”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image