กพร. กระตุ้นรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเครื่องคัดแยกโลหะฯแห่งแรกในไทย

กพร. กระตุ้นรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเครื่องคัดแยกโลหะจากซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ฯ แห่งแรกในไทย

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ Innovation in Raw Materials Conference 2020: The Implementation of Circular Economy ของ กพร. ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการผลักดันขยะหรือของเสียให้กลายเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และเดินหน้าเข้าสู่สังคมไร้ขยะ อย่างเต็มรูปแบบ

ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของ กพร. ภายใต้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต(ไอทีซี) ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบของกระทรวงอุตสาหกรรม ในปีนี้ได้ต่อยอดผลงานเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแต่งแร่ ด้วยการออกแบบและพัฒนาเครื่องคัดแยกทางกายภาพหรือทางกล เพื่อบดย่อยและคัดแยกส่วนประกอบต่าง ๆ จากซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลในขั้นตอนต่อไป ซึ่งเครื่องคัดแยกนี้นับเป็นเครื่องจักรต้นแบบสมัยใหม่เครื่องแรกในประเทศไทย

โดยสามารถแยกส่วนประกอบต่าง ๆ ในซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มโลหะที่ไม่ติดแม่เหล็ก (เช่น ทองแดง ดีบุก ทองคำ เงิน อะลูมิเนียม) กลุ่มโลหะที่ติดแม่เหล็ก (ได้แก่ เหล็ก และนิกเกิล) และส่วนประกอบที่ไม่ใช่โลหะ ซึ่งวัตถุดิบทั้งหมดนี้สามารถนำกลับมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ได้ใหม่จากความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของ กพร. สามารถรองรับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเป็น ศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของประเทศได้

“ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นทุกปี ประเมิน พบว่า การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศประมาณ 500,000 ตันต่อปี โดยเปลี่ยนเป็นทรัพยากรที่มีค่าเพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทย จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี และหากเราสามารถจัดการขยะหรือของเสียอื่น ๆ ทั้งจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศกว่า 50
ล้านตันต่อปี ได้อย่างเป็นระบบ โดยมองว่าขยะหรือของเสียเหล่านั้น คือ ทรัพยากร ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ได้จากการหมุนเวียนขยะหรือของเสียกลับมาเป็นวัตถุดิบทดแทนได้กว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี”นายกอบชัย กล่าว

Advertisement

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กล่าวว่า เครื่องคัดแยกนี้สามารถรองรับการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีรีไซเคิลตามหลักวิชาการ อีกทั้งทำให้ประเทศไทยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพและครบวงจรทัดเทียมนานาประเทศ

ที่ผ่านมาได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้ที่สนใจ เฉลี่ยปีละกว่า 300 ราย สามารถยกระดับผู้ประกอบการและสร้างธุรกิจใหม่ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศจากการลงทุนหรือการใช้ประโยชน์จากของเสียที่ได้รับการผลักดันงานวิจัยและพัฒนาโดยศูนย์แห่งนี้150-200 ล้านบาทต่อปี ไม่นับรวมมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนขยะหรือของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนที่สำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นการลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนสนับสนุนการขับเคลื่อนสู่สังคมไร้ขยะ และมุ่งสู่เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี ตามนโยบายรัฐบาล

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image