‘โรงแรมภูเก็ต’ ครึ่งแรกปีนี้ทรุดหนัก หวังภูเก็ตโมเดลช่วยกระตุ้น

“โรงแรมภูเก็ต” ครึ่งแรกปีนี้ทรุดหนัก หวังภูเก็ตโมเดลช่วยกระตุ้น

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2563ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงปัจจัยลบจากภาพรวมของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน พบว่าอุปทานเปิดตัวใหม่มีเพียงแค่โครงการเดียวเท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบหลายรายเลือกที่เลื่อนการเปิดตัวโรงแรมใหม่ในช่วงนี้ออกไป และพิจารณาการเปิดตัวปีกครั้งเมื่อสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยรวมถึงค่าห้องพักเฉลี่ยปรับตัวลดลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่ยากลำบากที่สุดของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตสำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวในภูเก็ตอาจปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ผ่านแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในพื้นที่รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาล และปัจจัยบวกที่สำคัญที่สุดจากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลกจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยสำหรับการพักผ่อนและอยู่อาศัย

“อุปทานใหม่เลื่อนการเปิดตัวออกไปเนื่องจากมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะกับการเปิดตัวโรงแรมใหม่และพิจารณาการเปิดตัวใหม่อีกครั้งหลังจากสถานการณ์การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น” นายภัทรชัยกล่าว

นายภัทรชัยกล่าวว่า ภาพรวมอุปทานโรงแรมทุกระดับในจังหวัดภูเก็ต ณ สิ้นครึ่งแรกปี พ.ศ.2563 อยู่ที่ประมาณ 86,000 ห้อง แต่สำหรับภาพรวมอุปทานสะสมโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกลทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 22,420 ห้อง สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา มีโรงแรมระดับอัพสเกลเปิดบริการใหม่เพียงแค่แห่งเดียวเท่านั้น คือ โฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน ภูเก็ต ป่าตอง บีช รีสอร์ท 600 ห้อง ตั้งอยู่บริเวณหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ ซึ่งคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พบว่าการเปิดตัวของโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกลส่วนใหญ่ยังคงมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่รอบๆ ชายหาดที่สำคัญเช่น ป่าตอง บางเทา ราไวย์ กมลา เป็นต้น จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในภูเก็ตเป็นอย่างมาก นักพัฒนาหลายรายเลือกที่จะเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกออกไป และรอดูสถานการณ์อีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีว่าจะสามารถเปิดตัวได้หรือไหม นอกจากนี่ยังพบว่ามีโรงแรมอีกมากกว่า 16,400 ห้องพักที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ.2563-2566 โดยพบว่า ประมาณ 67.1% หรือมากกว่า 11,000 ห้องพัก เป็นโครงการวิลล่าตากอากาศและโครงการคอนโดมิเนียมที่มีการขายแบบการันตีผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีแบรนด์โรงแรมเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการในลักษณะโฮเต็ลเรสิเดนซ์ ในรูปแบบโปรแกรมบังคับเช่า หรือแบบเลือกการปล่อยเช่าเป็นโรงแรม ซึ่งถือว่าจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตเป็นอย่างมาก โดยพบว่าส่วนใหญ่มีการกระจายตัวแทบทุกพื้นที่ในจังหวัด โดยเฉพาะย่านกมลา ป่าตอง สุรินทร์ บางเทา ราไวย์ เป็นต้น

นายภัทรชัยกล่าวว่า ทั้งนี้ บริษัท คาดการณ์ว่า ทำเล ป่าตอง กมลา บางเทา ราไวย์ ในหาญ และสุรินทร์ จะยังคงเป็นทำเลนี้จะยังคงขยายตัวต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบทำเลย่านป่าตอง และ บางเทา เนื่องจากเป็นทำเลที่ภาคเอกชนขนาดใหญ่ รวมถึงเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่จากภาครัฐที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งในส่วนของโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ภูเก็ต รวมถึงโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. ล้วนจะส่งผลให้ทำเลย่านดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในภูเก็ตมากขึ้นในอนาคต จากอุปทานโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกมากกว่า 16,400 ห้องพักที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะเปิดให้บริการในอนาคต เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากพบว่าอุปทานโรงแรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวและความต้องการห้องพักไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้มากนัก ส่งผลให้เกิดภาวะที่อุปทานเกินความต้องการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่เป็นอย่างมาก ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีความจำเป็นต้องปรับตัว โดยกลยุทธ์การกำหนดราคาสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาว่าอำนาจการซื้อของลูกค้าหลักเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ด้วยทิศทางของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นผู้ประกอบการไม่ควรขึ้นราคาสินค้าหรือบริการ เพราะจะไปซ้ำเติมอำนาจการซื้อของนักท่องเที่ยว เพื่อให้สอดคล้องต่อภาวะเศรษฐกิจและทิศทางค่าเงินบาทการปรับราคาสินค้าและบริการ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอาจเป็นไปได้ยาก ผู้ประกอบควรเน้นการปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจยังมีความสามารถในการแข่งขันในภาวะที่ตลาดชะลอตัว

Advertisement

นายภัทรชัยกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตในช่วงครึ่งแรก ปี 2563 ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างมาก จากการปิดพื้นที่ซึ่งส่งผลให้ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ ซึ่งหลังจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ส่งผลให้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จำนวนนักท่องเที่ยวไทยในพื้นที่ภูเก็ตกลายเป็น 0 ในช่วง 2 เดือนดังกล่าว และนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปมากกว่า 99% ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตในช่วงครึ่งปีแรกเหลือเพียงแค่ 2.84 ล้านคนเท่านั้น ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 62.56% และพบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน เหลือเพียงแค่ประมาณ 1.85 ล้านคนเท่านั้น ปรับตัวลดลงมากถึง 68.94% และในส่วนของนักท่องเที่ยวไทยก็ปรับตัวลดลงมากถึง 52.75 % มาอยู่ที่ประมาณ 0.98 ล้านคน ส่งผลให้มูลค่าจากการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เหลือเพียงแค่ 101,242.39 ล้านบาทเท่านั้น ปรับตัวลดลงมากถึง 62.85% สร้างความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ.2563 คาดว่ายังคงเป็นปีที่ค่อนข้างท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยและการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในปี พ.ศ.2563 โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างหลักในหลายประเทศทั่วโลกที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ นอกจากนี้ ปัจจัยลบในเรื่องของการแข็งค่าของเงินบาท ข้อจำกัดเรื่องการรองรับของสนามบินหลักของไทย และเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ถือว่ายังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่าย ประกอบกับค่าเงินบาทที่ค่อนข้างแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคนี้ ส่งล้วนแต่ถือว่าเป็นปัจจัยลบที่สำคัญที่เข้ามากระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในภูเก็ตแทบทั้งสิ้น และคาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวในภูเก็ตอาจปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ผ่านแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในพื้นที่ภูเก็ตในจำนวนจำกัด และต้องผ่านการคัดกรองตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และให้อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวเท่านั้น เบื้องต้นจะนำร่อง จ.ภูเก็ต เป็น “โมเดล” สำหรับภูเก็ตโมเดลจะเริ่มบางพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต ตัวอย่างเช่น หาดป่าตอง จะปิดพื้นที่ในรัศมี 1 กิโลเมตร ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปอยู่เป็นเวลา 14 วัน เมื่ออยู่ครบ จะมีการตรวจเชื้อโควิด หากผลตรวจไม่พบเชื้อ นักท่องเที่ยวคนนั้นๆ จะสามารถออกจากพื้นที่จำกัด ไปท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นภายในจังหวัดภูเก็ตได้อีก ซึ่งจากแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวดังกล่าว คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่จะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวในภูเก็ตกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image