‘สทน.’ แนะรัฐกระตุ้นเที่ยวในประเทศให้ถูกจุด เน้นใช้บริการผ่านทัวร์ หวั่นผู้ประกอบการปิดตายซ้ำอีก 35%
นายธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร จึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐ โดยต้องการให้ปรับรูปแบบแพคเกจเราเที่ยวด้วยกัน ที่รัฐบาลสนับสนุนเงินส่วนต่างในการใช้บริการโรงแรมที่พักในอัตรา 40% ประชาชนจ่ายเอง 60% เป็นการท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ โดยให้ผู้ประกอบการทัวร์ท่องเที่ยวจัดทำแพคเกจท่องเที่ยวเสนอออกมา และให้รัฐบาลสนับสนุนส่วนต่างชดเชยในอัตรา 40% เท่ากัน อาทิ แพคเกจเที่ยวราคา 4,000 บาท รัฐสนับสนุนส่วนต่างให้ 40% ประชาชนจ่ายเอง 60% โดยหากเงื่อนไขของแพคเกจออกมาในรูปแบบนี้ ผู้ประกอบการทัวร์จะได้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในภาคการท่องเที่ยวในปี 2564 ตั้งเป้าหมายในการกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มเป็น 4 ครั้งต่อคนต่อปี จากเดิมที่เดินทางเพียง 2 ครั้งต่อคนต่อปีเท่านั้น รวมตลาดไทยเที่ยวไทยออกเดินทางเพิ่มเป็น 200 ล้านคนครั้ง-ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2562 อยู่ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง และในปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้อยู่ที่ 70 ล้านคน-ครั้ง โดยประเมินว่า หากสามารถกระตุ้นได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ จะช่วยให้พยุงภาคธุรกิจได้มากขึ้น และช่วยเหลือตลาดต่างชาติที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวปิดตัวถาวรแล้วกว่า 30% ส่วนที่เหลืออีก 70% ในจำนวนนี้ยังมีรอการปิดตัวถาวรเพิ่มเติมอีก 35% หากยังไม่มีมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว และมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่ตรงจุดออกมา
นายธนพลกล่าวว่า รัฐบาลจะต้องออกนโยบายที่กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวโดยตรง เนื่องจากตลาดในประเทศ มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของตลาดทั้งหมด ทำให้การจ้างงานในภาคท่องเที่ยว เพื่อพยุงผู้ประกอบการ ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน ก่อนที่ผู้ประกอบการจะต้องปิดกิจการไป อาทิ โครงการฟื้นฟู บูรณะแหล่งท่องเที่ยว หรือในอุทยาน การทำฝายน้ำล้น รวมถึงการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในระยะถัดไป มองว่ากลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลควรเน้นมากขึ้น เป็นกลุ่มข้าราชการวัยเกษียณอายุและผู้สูงอายุ ซึ่งเฉพาะผู้สูงอายุก็มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนขึ้นไป โดยเชื่อว่าหากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นให้กลุ่มคนเหล่านี้ เดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ จะมีการเดินทางมากขึ้น เพราะปกติผู้สูงอายุไม่สามารถเดินทางเองได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องความคล่องตัว บวกกับพื้นที่ในแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย ก็ยังไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวก และเอื้อให้เดินทางเองได้ง่ายเท่าที่ควร จึงมองว่าหากรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้สูงวัย ผ่านการให้บริษัททัวร์คิดรูปแบบแพคเกจการท่องเที่ยว และรัฐบาลสนับสนุนส่วนต่างในอัตรา 40% จ่ายเอง 60% ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจ เพราะผู้สูงอายุที่ออกเดินทางท่องเที่ยวจะได้รับการดูแลตลอดทั้งการเดินทาง
นายธนพลกล่าวว่า นอกจากนี้ ในส่วนของบประมาณของภาครัฐ มองว่าควรมีการวางแผนในการใช้จ่าย เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากที่สุด ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยเสริมกำลังซื้อที่หดตัวไปของประชาชน โดยเฉพาะการเก็บค่าเข้าใช้บริการในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว อุทยาน วัด เกาะต่างๆ มองว่าควรยกเว้นการเก็บค่าบริการเหล่านี้ก่อนอย่างน้อย 1 ปี ทั้งในส่วนของคนไทยและต่างชาติ ส่วนรายได้ที่หายไป เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือทดแทน เพื่อดึงดูดให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ก่อน รวมถึงรัฐบาลจะต้องกระตุ้นให้กลุ่มคนไทยเที่ยวนอกที่มีปีละกว่า 11 ล้านคน ใช้จ่ายในต่างประเทศกว่า 4.3 แสนล้านบาทต่อปี โดยต้องจัดหาแพคเกจกระตุ้นให้กลุ่มเหล่านี้เดินทางเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยแบ่งแพคเกจเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ 2.ท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงวัย 3.ท่องเที่ยวกลุ่มระดับกลางถึงล่าง และ 4.ท่องเที่ยวกลุ่มระดับบนขึ้นไป
“ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้เกินจริง เพราะเป็นเงื่อนไขในลักษณะเดียวกันกับแพคเกจเราเที่ยวด้วยกันที่รัฐบาลพิจารณาให้ออกมา โดยมองว่างบประมาณจากแพคเกจเราเที่ยวด้วยกันที่จะต้องเหลือแน่นอนอยู่แล้ว และโครงการจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคมนี้ อยากให้นำงบที่เหลือมาใช้ในโครงการที่ต้องดำเนินการผ่านบริษัททัวร์ เพราะคนไทยมีเกือบ 70 ล้านคน มีการเดินทางผ่านบริษัททัวร์เพียง 10% เท่านั้น โดยการทำทัวร์ในประเทศจะมีราคาถูกลง หากรัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ยกตัวอย่าง ไต้หวัน ที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นกว่าปกติมาก เพราะรัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ อาทิ การซื้อคูปอง 1,000 ได้เพิ่มเป็น 3,000 ใช้ได้จนถึงสิ้นปี” นายธนพลกล่าว