ลุ้นสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ยักษ์ “ระบบราง” เปิดหรือเลื่อน

ลุ้นสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ยักษ์ “ระบบราง” เปิดหรือเลื่อน

เริ่มนับถอยหลังที่จะเปิด “สถานีกลางบางซื่อ” กันแล้ว หลังงานก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์ 100% เหลือเพียงการตกแต่งภายในให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการติดตั้งป้ายบอกทาง ห้องน้ำ และระบบไฟฟ้าภายในสถานี โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตั้งเป้าจะเปิดบริการปี 2564

สถานีกลางบางซื่อ เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร (กม.) เริ่มตอกเสาเข็มตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2556

 

Advertisement

 

แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสถานีกลางบางซื่อ และงานก่อสร้างสถานียกระดับ 1 สถานี ได้แก่ สถานีจตุจักร งานก่อสร้างทางวิ่งยกระดับและทางวิ่งระดับดิน ความยาวตามแนวก่อสร้าง 6.20 กม. งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกลและรถไฟชานเมือง งานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ และสะพานรถยนต์ รวมถึงระบบระบายน้ำ

สัญญาที่ 2 เป็นงานก่อสร้างทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกอบด้วย งานก่อสร้างสถานียกระดับ 8 สถานีตามแนวเส้นทางรถไฟ งานก่อสร้างทางวิ่งยกระดับ และทางวิ่งระดับดิน ความยาวตามแนวก่อสร้าง 20.15 กม. งานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ และสะพานรถยนต์ รวมถึงระบบระบายน้ำ

Advertisement

สัญญาที่ 3 เป็นงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.26 กม. ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางรถไฟ งานระบบไฟฟ้า งานระบบอาณัติสัญญาณ งานระบบสื่อสาร งานระบบการออกตั๋ว งานเครื่องจักรเครื่องมือสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟ งานระบบควบคุมความปลอดภัยด้านการเดินรถ งานระบบประกาศและประชาสัมพันธ์ งานสถานีไฟฟ้าย่อย งานรื้อย้ายทางรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณเดิม งานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า

ที่ผ่านมาโครงการนี้เลื่อนเปิดบริการมาหลายรอบ เริ่มจากเดิมตั้งเป้าหมายเปิดเดินรถในปี 2562 แต่ผ่านไปสักระยะการดำเนินงานไม่ตรงตามแผน จนคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จปลายปี 2562 จึงเลื่อนเปิดบริการไปปี 2563 จากนั้นก็มีเป้าหมายใหม่เกิดขึ้นอีกเป็นเดือนมกราคม 2564 และกลางปี 2564 จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน 100% ว่าจะเปิดให้บริการได้เดือนไหน

อย่างไรก็ตาม หากเดินหน้าจนเปิดบริการได้แล้ว สถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศไทย และเป็นสถานีกลางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความยาวของสถานีอยู่ที่ 596.6 เมตร ความกว้าง 244 เมตร ความสูง 43 เมตร พื้นที่ใช้สอยรวม 274,192 ตารางเมตร(ตร.ม.)

เป็นอาคารสูง 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน พื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. ซึ่งเป็นพื้นที่ไว้สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน

สำหรับพื้นที่จอดรถยนต์ดังกล่าวจะแบ่งเป็นพื้นที่รถยนต์ทั่วไป 1,624 คัน และรถแท็ก 262 คัน คาดว่าหากเปิดบริการได้ในปี 2564 จะมีรถส่วนบุคคล 2,656 คัน/วัน รถจักรยานยนต์ 781 คัน/วัน และในปี 2569 รถส่วนบุคคลจะเพิ่มเป็น 9,751 คัน/วัน รถจักรยานยนต์ 2,868 คัน/วัน

ส่วนอัตราค่าบริการจอดรถส่วนบุคคล 30 นาทีแรก ไม่คิดค่าบริการ ชั่วโมงที่ 1-14 คิด 20 บาท/ชั่วโมง และชั่วโมงที่ 15-24 คิด 300 บาท ส่วนจักรยานยนต์ 30 นาทีแรกฟรี ชั่วโมงที่ 1-14 คิด 10 บาท/ชั่วโมง ชั่วโมง 15-24 คิด 150 บาท นอกจากนี้ ในปี 2574 จะมีการปรับค่าจอดรถส่วนบุคคลเป็น 25 บาท/ชั่วโมง และปี 2584 เพิ่มเป็น 30 บาท/ชั่วโมง

ส่วนชั้นที่ 1 พื้นที่รวม 86,700 ตร.ม. เป็นพื้นที่ในการจำหน่ายตั๋ว ศูนย์อาหาร สำนักงาน และร้านค้า รวมถึงพื้นที่พักคอยผู้โดยสาร ห้องน้ำ และจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงิน

ชั้นที่ 2 พื้นที่รวม 42,000 ตร.ม. เป็นพื้นที่ชานชาลารองรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล จำนวน 8 ชานชาลา

ชั้นที่ 3 พื้นที่รวม 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลารองรับรถไฟความเร็วสูง จำนวน 10 ชานชาลา ประกอบด้วยรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน สายเหนือ สายใต้ และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปถึงอู่ตะเภา และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวน 2 ชานชาลา

ในปีแรกที่เปิดบริการ รฟท.คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการประมาณ 208,000 เที่ยวคนต่อวัน และเพิ่มเป็น 396,000 เที่ยวคนต่อวันในปี 2575 พร้อมกันนี้จะค่อยๆ ลดบทบาทสถานีกรุงเทพหรือสถานีหัวลำโพงลง เพื่อเปลี่ยนมาใช้สถานีกลางบางซื่อแทน จากที่เดินรถดีเซลรางวันละ 130 เที่ยว จะเหลือ 30-40 เที่ยวในอนาคต

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดึงผู้โดยสารให้เข้าไปใช้บริการสถานีกลางบางซื่อตามเป้าหมายที่กำหนด รฟท.ยังอยู่ระหว่างเปิดให้บริษัทเอกชนร่วมพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีกลางบางซื่อ และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งที่ผ่านมาเปิดประกวดราคาไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ไม่มีเอกชนรายใดสนใจ จึงปรับเปลี่ยนรายละเอียดใหม่ เพื่อเปิดประกวดราคาอีกครั้ง

“วรวุฒิ มาลา” รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รฟท.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างร่างรายละเอียดการประกวดราคา สถานีกลางบางซื่อ แปลงเอ ขนาดที่ดิน 32 ไร่ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดประกวดราคาไปแล้วแต่ไม่มีเอกชนสนใจยื่นข้อเสนอ จึงนำกลับมาเปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชน (มาร์เก็ตซาวดิ้ง) และเตรียมเปิดประกวดราคาครั้งสุดท้าย เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.วันที่ 17 กันยายนนี้ เพื่อประกาศขายซอง

การประกวดราคาสถานีกลางบางซื่อ แปลงเอ ไม่ได้รับการตอบรับจากเอกชน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีรางรถไฟคร่อม ทำให้ยากต่อการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เบื้องต้น รฟท.จึงจะเสนอให้บอร์ดพิจารณาแนวทางควบคู่ โดยเสนอขออนุมัติเพื่อทำการศึกษาเปิดประกวดราคาแปลงเอ ไปพร้อมกับแปลงอี โดยจะประกวดราคาพร้อมกันนี้ ภายใต้ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐปี 2562 ซึ่งมีข้อกำหนดให้ รฟท.เปิดประกวดราคาได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือคณะกรรมการพีพีพี ดังนั้นจะทำให้กระบวนการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้นŽ วราวุฒิแจงถึงแนวทางแก้ปัญหา

“อย่างไรก็ตาม นอกจากการหาผู้เข้ามาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แล้ว รฟท.ยังมีปัญหาที่อาจจะทำให้การเปิดให้บริการไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ คือ เรื่องการเพิ่มขึ้นของงบประมาณก่อสร้าง 10,345 ล้านบาท ที่ทำให้กระทรวงคมนาคม และรฟท.ต้องเร่งหาข้อสรุปเรื่องนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด” รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รฟท.สรุป

 

ด้าน “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการ รฟท. เสริมว่า กระทรวงคมนาคมให้ รฟท.ไปหาที่มาของการเพิ่มงบประมาณการเปลี่ยนแปลงงาน (Variation order:VO) ที่มีงานก่อสร้างเพิ่มขึ้นกว่า 10,345 ล้านบาทในโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิตนั้น โดย รฟท.ได้ขอความเห็นไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตีความว่างานที่เพิ่มขึ้นกว่า 194 รายการ มูลค่ากว่า 4,500 ล้านบาท ในสัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อว่าผู้มีอำนาจในการสั่งงานสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งวงเงินในสัญญาที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งของวงเงินรวมที่ 10,345 ล้านบาท ที่ รฟท.เสนอขอไป

การขอความเห็นจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นเรื่องงบประมาณที่เพิ่มเติมในสัญญาที่ 1 เท่านั้น ส่วนงานในสัญญาที่ 2 งานโยธา ช่วงบางซื่อ-รังสิต และสัญญาที่ 3 ระบบอาณัติสัญญาณ ที่เพิ่มขึ้นทาง รฟท.ไม่ได้ส่งอัยการตีความ เนื่องจากเป็นงานที่เปลี่ยนแปลงงานที่ยังไม่ได้มีการก่อสร้าง แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน รฟท.จะรอผลการตีความจากอัยการสูงสุดก่อนถึงจะดำเนินการต่อไป

“ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ รฟท.ได้สรุปตัวเลขงบประมาณเพื่อยืนยันวงเงินที่จะให้กระทรวงคมนาคมเสนอขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมาใช้ในโครงการส่วนเพิ่มเติมนั้น ยังคงเป็นตัวเลขที่ 10,345 ล้านบาทเช่นเดิม ไม่ได้มีการตัดวงเงินลง หรือตัดรายการลงแต่อย่างใด และยืนยันว่าโครงการสายสีแดงจะยังเปิดให้บริการในปี 2564” ผู้ว่าการ รฟท.ยืนยันอย่างมั่นใจ

รอดูว่า “สถานีกลางบางซื่อ” จะได้ฤกษ์ตัดริบบิ้น กดปุ่มเปิดเดินรถได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ หากเจอโรคเลื่อนอีก คงมีเสียงโห่ว่อนโซเชียลระลอกใหญ่ เพราะแค่มีข่าวจะเลื่อนเปิดไปปี 2566 ก็ถูกโจมตีอย่างหนัก เพราะงานก่อสร้างเสร็จเกือบหมด ขบวนรถมีพร้อม และวิ่งทดสอบแล้ว หากยังเลื่อนอีก เกรงว่าสนิมจะขึ้น กลายเป็นของเก่าป้ายแดงไปซะก่อน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image