‘แบงก์ชาติ’ ผลักดันภาคการเงินสู่โลกยุคดิจิทัล หวังช่วยลดต้นทุน-เพิ่มโอกาส-รักษาความปลอดภัย

แบงก์ชาติผลักดันภาคการเงินสู่โลกยุคดิจิทัล หวังช่วยลดต้นทุนเพิ่มโอกาสรักษาความปลอดภัย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Bangkok Fintech Fair 2020 (บางกอก ฟินเทคแฟร์ 2020) ว่า ธปท. สนับสนุนการให้บริการผ่านดิจิทัลเริ่มจากให้บริการพร้อมเพย์ โดยในปัจจุบันประชาชนได้รู้จักและเชื่อมั่นการให้บริการมากขึ้น ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้ใช้บริการพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นมาที่ 55.1 ล้านรายแล้วและมีจำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าปริมาณการทำธุรกรรมผ่านบริการพร้อมเพย์สูงสุดถึง 20 ล้านรายการต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนต้องเว้นระยะห่างและมีการปิดล็อกดาวน์ดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ยังสามารถทำได้ในภาวะที่ทุกคนไม่สามารถเดินทางออกไปข้างนอกได้ ส่งผลให้การใช้บริการธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเร่งตัวขึ้นมากในช่วงล็อกดาวน์ รวมถึงในภาคธุรกิจอื่นๆ ได้ประยุกต์ใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานเพื่อให้ธุรกิจยังเดินต่อไปได้เช่นกัน

ธทป.ให้ความสำคัญกับการผลักดันการพัฒนาและลงทุนด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีในระบบการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ภาคการเงินและภาคธุรกิจในการลดต้นทุน บริหารจัดการความเสี่ยง และอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการให้บริการได้ดีขึ้น อาทิ การนำบริการคิวอาร์โค้ดมาใช้ในการอำนวยความสะดวกสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น ซึ่ง ถือว่าได้รับความนิยมมาต่อเนื่อง หลังจากที่ผู้ประกอบการเห็นถึงความสะดวกในการใช้คิวอาร์โค้ดรับโอนเงินชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนใช้คิวอาร์โค้ดแล้วจำนวนกว่า 6 ล้านไอดีนายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า สำหรับการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ที่นำดิจิทัลและเทคโนโลยีไปใช้ในการให้บริการลูกค้าภาคธุรกิจและลูกค้ารายย่อย ได้เริ่มให้ใช้การยืนยันตัวตนผ่านแพลตฟอร์ม National Digital ID (NDID) ในการเปิดบัญชีเงินฝากไปแล้ว และการนำ Bio Metrix มาใช้ในการยืนยันตัวตน รวมถึงการบริการแพลตฟอร์มการให้บริการด้านสินเชื่อที่ทำให้ลูกค้าของธนาคารต่างๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างสะดวกขึ้น โดยมีหลายเรื่องที่ ธปท. ภาคธนาคาร ภาครัฐ และภาคเอกชน ยังต้องทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำดิจิทัลและเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อช่วยให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน และบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้นเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมที่เป็นยุคการเงินแบบดิจิทัล โดยการผลักดัน NDID ในการยืนยันตัวตนด้วยระบบดิจิทัล ปัจจุบันยังใช้อยู่ในส่วนของการให้บริการของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่ในอนาคตธปท.ต้องการผลักดันให้ NDID เปรียบเสมือนกับบัตรประชาชนในรูปแบบดิจิทัล ที่สามารถใช้ได้ในวงกว้าง ซึ่งธปท.จะเปิดกว้างให้ทุภาคส่วนหันมาใช้NDID ยืนยันตัวตนแทนบัตรประชาชนเพื่อประกอบการทำธุรกรรมและกิจกรรมต่างๆ โดยในระยะต่อไปจะขยายการใช้ NDID ไปสู่บริการด้านหลักทรัพย์ และบริการภาครัฐ

นายวิรไท กล่าวว่า ธปท.จะเดินหน้าผลักดันแผนงาน 4 ด้านและต่อยอดต่อไป ได้แก่ การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานของภาคการเงินและภาคธุรกิจโดยใช้มาตรฐาน ISO 20022 เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้นช่วยลดต้นทุนและบริหารความเสี่ยงของธนาคารได้ดีขึ้น รวมถึงสามารถช่วยภาคธุรกิจในด้านข้อมูลเกี่ยวกับการทำE-invoice และ E-Factoring ทำให้ช่วยภาคธุรกิจในเรื่องของการเก็บรวบรวมข้อมูล และเพิ่มความรวดเร็วในการได้รับเงิน ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีก 1 ปีครึ่งจากนี้ ถึงจะนำออกมาใช้ในวงกว้างได้ ในส่วนของ Digital Footprint เป็นเรื่องที่ ธปท.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่ภาคธนาคารพาณิชย์จะนำประโยชน์จากการใช้Digital Footprint มาเป็นข้อมูลในการประเมินความสามารถของลูกค้าเพื่อพิจารณาให้สินเชื่อ และทำให้ธนาคารพาณิชย์บริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้า จากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเพย์เมนต์ ดาต้า ที่อยู่ใน Digital Footprint จะนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูล และประเมินความเสี่ยง ทำให้ลูกค้าธนาคารเข้าถึงบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างเหมาะสม

Advertisement

นายวิรไท กล่าวว่า นอกจากนี้ สิ่งที่ ธปท.ได้ผลักดันมาต่อเนื่องคือ โครงการอินทนนท์ เพื่อรองรับการโอนเงินในประเทศระหว่างสถาบันการเงินด้วยการแปลงเงินฝากของสถาบันการเงินที่นำมาฝากไว้ที่ธปท. โดยให้อยู่ในรูปสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและโอนชำระเงินระหว่างกัน ซึ่งในขณะนี้ได้มีการขยายไปสู่ความร่วมมือกับพันธมิตรธนาคารในฮ่องกงแล้ว และยังมีการใช้แพลตฟอร์มทางการเงินสำหรับภาครัฐในสังกัดกระทรวงการคลังเพื่อนำไปใช้ทำธุรกรรมแบบ Pier-to-Pier โดยธปท.ยังคงเดินหน้าต่อยอดการเป็นธนาคารกลางสกุลเงินดิจิทัล โดยจะขยายการใช้ไปในซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับกลไกการธุรกรรมทางการเงินที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น รวมถึงจะขยายการใช้ไปสู่ภาคธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือในด้านกลไกการชำระเงินระหว่างภาคธุรกิจด้วยกันเอง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การชำระเงินของภาคธุรกิจ และมีความปลอดภัยมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image