เปิดสเปก ‘กสทช.’ ชุดชั่วคราว-ถาวร คัดเข้ม ‘7อรหันต์’

เปิดสเปก ‘กสทช.’ ชุดชั่วคราว-ถาวร คัดเข้ม ‘7อรหันต์’

7 อรหันต์ กสทช. – เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ฤกษ์ออกประกาศ เรื่อง การรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดชั่วคราว จำนวน 7 คน แทนชุดเดิม ซึ่งหมดวาระไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

การสรรหา กสทช.จำนวน 7 คน จากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ด้านละ 1 คน ประกอบด้วย 1.ด้านกิจการกระจายเสียง 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม 4.ด้านวิศวกรรม 5.ด้านกฎหมาย 6.ด้านเศรษฐศาสตร์ และ 7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

สำหรับผู้สนใจที่มีคุณสมบัติตามกำหนดสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2563 เป็นต้นไป และกำหนดวันรับสมัครตั้งแต่วันที่ 14-28 ตุลาคม 2563 ในเวลาราชการโดยไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยให้ยื่นใบสมัครด้วยตนเองได้ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

Advertisement

ขณะที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. (ฉบับที่…) พ.ศ… ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยมี “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานนั้น ประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่่ผ่านมา

“พุทธิพงษ์” ระบุว่า คณะกรรมาธิการมีการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับปี 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งหลักการและเหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับดังกล่าวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น เพื่อแก้ปัญหาการสรรหา กสทช. ในทางปฏิบัติ และเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่ง กสทช. ที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงมีการแก้ไขในส่วนขององค์ประกอบของคณะกรรมการ กระบวนการสรรหา อำนาจของคณะกรรมการสรรหา และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัคร เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ในส่วนของคุณสมบัติและความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ กสทช.นั้น คณะกรรมาธิการได้พิจารณาปรับปรุงด้านของความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยเสนอให้มีด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ และด้านกิจการโทรคมนาคม ด้านละ 1 คน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้านละ 1 คน และด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. จำนวน 2 คน ทางคณะกรรมาธิการเห็นว่าจะครอบคลุมความต้องการตามพันธกิจขององค์กรทั้งในปัจจุบันและอนาคต

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงการเทียบเกณฑ์คุณวุฒิของตำแหน่งอาชีพในภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนได้มาตรฐานขึ้น และลดข้อกำหนดจำนวนปีของประสบการณ์บริหารงานเฉพาะทางหลายด้านลง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติและอายุงานเฉพาะด้าน 10 ปีขึ้นไปสามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้

รวมทั้งยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดในส่วนของช่วงเวลาในการดำรงตำแหน่งต่อการสมัครเพื่อรับการแต่งตั้งใหม่ หรือพ้นจากตำแหน่งของกรรมการชุดเดิม หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ประกาศใช้ เพื่อให้เป็นธรรมต่อสิทธิของผู้ดำรงตำแหน่ง และเกิดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายต่างๆ ในคณะกรรมการ กสทช. ในช่วงรอยต่อของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนี้ด้วย

“ร่าง ...ฉบับที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมนี้ จะเข้าสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพฤศจิกายนนี้ หากได้รับการเห็นชอบ จะส่งไปยังวุฒิสภาพิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย จะมีผลบังคับใช้เพื่อเลือกกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ทันที อาจเป็นช่วงต้นปี 2564” พุทธิพงษ์สรุป

ด้าน “สืบศักดิ์ สืบภักดี” เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้มีคณะกรรมาธิการหลายชุดพูดถึงเรื่องคุณสมบัติ หรือตำแหน่งกรรมการ กสทช.อยู่บ้าง เนื่องจากข้อเท็จจริงหากจะแบ่งความเชี่ยวชาญของกรรมการ กสทช.แบบในอดีต อาจเป็นบริบทแบบหนึ่ง แต่ในปัจจุบันอาจมีความต้องการหรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

ประกอบกับความสำคัญของกิจการบางกิจการอาจหลอมรวม ฉะนั้น กรรมการ กสทช.อาจจะแบ่งแยกความเชี่ยวชาญ อาทิ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม วิศวกรรม กฎหมาย แบบเดิมไม่ได้ อาจต้องมีความเข้าใจด้านอื่นๆ หรือแม้แต่กรรมการ กสทช.ด้านอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา

ซึ่งก่อนหน้านี้เสนอให้มีกรรมการ กสทช.ด้านกิจการดาวเทียม ซึ่งเป็นกิจการใหม่ที่ได้รับการถ่ายโอนอำนาจมาจากกระทรวงดีอีเอส หรือกรรมการ กสทช. ด้านที่ต้องทำหน้าที่สื่อสารกับประชาชน โดยกรรมการด้านนี้อาจไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกิจการนั้นๆ เหมือนเดิม

“เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนหรือการเสนอบทบาทของกรรมการ กสทช.ให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีหรือยุคสมัยเป็นสิ่งที่ทำได้ ส่วนจะเป็นตำแหน่งอย่างไร ระบุถึงคุณสมบัติอย่างไร ขอให้พิจารณาให้สอดรับกับเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคต และตอบรับต่อพันธกิจที่แท้จริงดีกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนอยากเห็นและเฝ้าดูอยู่” สืบศักดิ์แนะนำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image