นักวิชาการจุฬาฯมองบวก”โลตัส”กลับสู่”ซีพี” เชื่อช่วยสร้างงาน-กระตุ้นศก.สู้พิษโควิด

ภาคธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยในรูปแบบของ “โมเดิร์นเทรด” ในปัจจุบันต้องแข่งขันกับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซของผู้ประกอบการต่างประเทศที่เข่ามาดิสรัปตลาดค้าปลีกเมืองไทย โดยเฉพาะผู้เล่นดิจิทัลระดับโลกหลายรายจดทะเบียนบริษัทในต่างประเทศ เข้ามายึดส่วนแบ่งตลาดไฮเปอร์มาร์ท ไปสู่การค้าออนไลน์ นอกจากได้ข้อมูลผู้บริโภคไทยออกไปต่างประเทศแล้ว การด้านภาษี ยังเก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

นอกจากนี้ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หากอยู่ในมือผู้ประกอบการต่างประเทศ เมื่อมีกำไรก็จะปันผลกลับไปต่างประเทศ การกลับมาอยู่เมืองไทย จะทำให้กลยุทธ์เปลี่ยนจากการได้กำไรสูงสุดเพื่อการปันผล มาเป็นการลงทุนเพื่อการเติบโต ทำให้ช่องทางการขายของพ่อค้าแม่ค้าในประเทศไทย มีโอกาสมากขึ้น

หนึ่งในทิศทางที่น่าสนใจคือคาดว่าในปลายปีนี้ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตของประเทศไทยจะยิ่งส่งสัญญาณบวกคึกคักมากขึ้น หลังจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ทุ่มเงิน 239,953 ล้านบาท ประมูลชนะซื้อเทสโก้โลตัสในประเทศไทยและมาเลเซีย จากกลุ่มเทสโก้ ประเทศอังกฤษ กลับมาเป็นธุรกิจสัญชาติไทย เนื่องจากเดิมเป็นธุรกิจที่ซีพีก่อตั้งในชื่อ “โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2537

หลังจากบรรลุข้อตกลงขายกิจการแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ว่าจะเข้าข่ายการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด ตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่

Advertisement

ทั้งนี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี ได้วางบทบาทของไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่าง “โลตัส” จะเข้ามาช่วยขยายภาคธุรกิจค้าปลีกของประเทศไทยในฐานะช่องทางจำหน่ายสินค้าที่จะเป็นตัวช่วยให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคภายในที่จำเป็นมากในยุคหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ภาคธุรกิจส่งออก-ท่องเที่ยว-การลงทุนจากต่างประเทศต่างได้รับผลกระทบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้แนวทางของซีพีที่จะดำเนินธุรกิจของโลตัสต่อไปจะเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นช่องทางขยายตลาดโอท็อป เอสเอ็มอี และขยายส่งสินค้าไปในต่างประเทศ โดยมีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่ควบคู่กับชุมชนและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ทั้งยังช่วยกระตุ้นการจ้างแรงงานและสร้างงานในระบบเพิ่มขึ้น ธุรกิจเอสเอ็มอี-ภาคเกษตร มีตลาดหรือช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ทั่วถึง

ทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญตามปรัชญา 3 ประโยชน์ ของซีพีที่ยึดมั่นมาตลอด 99 ปี ของการดำเนินธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงประเทศชาติและประชาชนต้องมาก่อน ตามมาด้วยประโยชน์ขององค์กรเป็นลำดับสุดท้าย

Advertisement

ทั้งนี้ รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index: GCI) โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับ World Economic Forum (WEF) เพื่อวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือตลาด ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วนคือ ตลาดสินค้า และตลาดแรงงาน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกระแสไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ

รศ.ดร.วิเลิศกล่าวว่า สำหรับตลาดสินค้าคือการสนับสนุนให้มีการผลิตและพัฒนาสินค้า ส่งเสริมให้สินค้าเข้าถึงประชาชนทุกแห่ง รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคาเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ส่วนตลาดแรงงานคือการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานกับประชาชนทุกพื้นที่ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไหลเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลก ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างพยายามสร้างให้เกิดแรงกระเพื่อมนี้ผ่านกลไกและเครื่องมือทางเศรษฐกิจมากมายในมิติของตลาดทั้งสองส่วนดังกล่าว

รศ.ดร.วิเลิศกล่าวอีกว่า อีกหนึ่งตลาดหรือช่องทางจำหน่ายสินค้าที่จะเป็นตัวช่วยเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในยุคนี้ได้คือตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่สนับสนุนทั้งตลาดสินค้า โดยการรวบรวม คัดสรร ตรวจสอบคุณภาพสินค้าทุกประเภท พร้อมทั้งช่วยเหลือผู้ผลิตอาหาร เกษตรกร และผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า และอื่นๆ อีกมากมายในการมีช่องทางจัดจำหน่ายที่มีระบบมาตราฐานสากล ให้ถึงมือผู้บริโภคในทุกพื้นที่ของประเทศในราคาที่เหมาะสม อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ในตลาดแรงงานทั่วประเทศอย่างชัดเจน

รศ.ดร.วิเลิศกล่าวว่าหากจะเปรียบบทบาทของไฮเปอร์มาร์เก็ตกับอวัยวะในร่างกายของคนเรา ก็อาจจะพูดได้ว่าไฮเปอร์มาร์เก็ตเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยกระจายเลือดและสารอาหารสู่อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายเรา และยังทำหน้าที่คอยสนับสนุนกระดูกสันหลัง ที่จะว่าไปแล้วก็หมายความถึงอาชีพที่เป็นเสาหลักของของประเทศ นั่นก็คือเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา อาจรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ให้สามารถกระจายสินค้าไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศได้ รวมไปถึงการจ้างงาน ส่งเสริมให้คนประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น

“หากเรามองเห็นว่าเส้นเลือดใหญ่ของประเทศที่ว่านี้มีความสำคัญเพียงใดต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศเราเองแล้ว เส้นเลือดใหญ่นี้เองกลับมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของเสียอย่างนั้น และเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เลือดที่นำพาสารอาหารไหลออกนอกร่างกายของเราไป จะดีกว่าหรือไม่ที่เส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทยเราจะกลับมาเป็นเราเอง”รศ.ดร.วิเลิศกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image