อินฟราฟัน : อัพเดททางคู่สายใต้

อินฟราฟัน : อัพเดททางคู่สายใต้ สัปดาห์ก่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย

อินฟราฟัน : อัพเดททางคู่สายใต้

สัปดาห์ก่อน การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ออกมาพูดถึง การก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ทำให้รู้ว่างานก่อสร้างคืบหน้าไปมากพอสมควรแล้ว

เริ่มจากรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร วงเงิน 3.39 หมื่นล้านบาท ภาพรวมคืบหน้า 67.05% ล่าช้ากว่าแผน 7.89% โดยสัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กม. ก่อสร้างโดยบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนี่ยริ่ง 1964 จำกัด คืบหน้า 68.93% เร็วกว่าแผน 0.21% สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน ระยะทาง 76 กม. ก่อสร้างโดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด คืบหน้า 72.05% เร็วกว่าแผน 2.70%

สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. ก่อสร้างโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) คืบหน้า 74.39% เร็วกว่าแผน 0.25% สัญญาที่ 4 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กม. ก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า เคเอส-ซี คืบหน้า 65.13% ล่าช้ากว่าแผน 30.59% และสัญญาที่ 5 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ระยะทาง 80 กม. ก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า เอสทีทีพี คืบหน้า 55.72% ล่าช้ากว่าแผน 15.66% ตั้งเป้าหมายก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2564 และเปิดให้บริการปี 2565

Advertisement

สำหรับบางช่วงที่ล่าช้า มีสาเหตุมาจากการปรับแบบการก่อสร้าง เช่น ที่จังหวัดราชบุรี มีการพบระเบิดอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง หากจะกู้ระเบิดต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และเป็นสิ่งที่เรารอไม่ได้ จึงต้องออกแบบใหม่ บางพื้นที่ก็ติดปัญหาผู้บุกรุกพื้นที่ บางพื้นที่มีปัญหาจุดตัด เช่น 10 จุดตัดสำคัญในจังหวัดเพชรบุรี

ทางคู่สายใต้ มีงานก่อสร้างที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ สะพานขึงรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาที่ 1 เป็นจุดไฮไลต์สำคัญของรถไฟทางคู่สายใต้ ตั้งอยู่บริเวณ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี คู่ขนานกับสะพานจุฬาลงกรณ์ ถือเป็นสะพานขึงรถไฟแห่งแรก และมีความยาวที่สุดในประเทศไทย มีรูปแบบ Extradosed Bridge ไม่มีเสาตรงกลางแม่น้ำ เป็นทางเดี่ยว มีความยาว 160 เมตร และมีความสูง 16 เมตร นับจากสันรางถึงยอดสูงสุดของเสากระโดงที่รั้งสายเคเบิล ปัจจุบันเริ่มเจาะเสาเข็มเพื่อก่อสร้างฐานรากฝั่งค่ายภาณุรังษี รวมก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 30% คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2564

ทางการรถไฟแจ้งด้วยว่า ระหว่างก่อสร้างอาจทำให้การเดินรถไฟสายใต้มีความล่าช้าบ้าง เพราะบางพื้นที่เมื่อเข้าจุดก่อสร้างต้องชะลอความเร็วรถ ซึ่งตอนนี้มีเสียงบ่นจากผู้โดยสารเข้ามามาก โดยจะพยายามบริหารจัดการให้เกิดการดีเลย์น้อยที่สุด

Advertisement

ก่อสร้างเสร็จเมื่อไหร่ รับรองวิ่งฉิวทันใจแน่นอน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image