จุรินทร์ จัดงาน’THAIFEX–ANUGA ASIA 2020’ไฮบริด นำอาหารไทยสู่ตลาดโลกแตะ 2 ล้านล้านบาท

รับมือส่งออก! จุรินทร์ นำพาณิชย์ จัด THAIFEX–ANUGA ASIA 2020 แบบ “The Hybrid Edition” นำอาหารไทยสู่ตลาดโลก พร้อมจับมือ 4 กระทรวงเซ็นเอ็มโอยูมาตรฐานความปลอดภัยอาหารจากโควิด เอกชนมั่นใจอุตฯอาหารไทยแตะ 2 ล้านล้านบาท

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเปิดงานแสดงสินค้าอาหาร 2563 THAIFEX – ANUGA ASIA 2020 ภายใต้“The Hybrid Edition” ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี และกำหนดจัดวันที่ 22-26 กันยายน ว่า 4 กระทรวง ประกอบด้วยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) การปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นอาหารไทยสู่สายตาชาวโลกว่าเป็นสินค้าอาหารที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดเชื้อโควิด-19

“ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น ระบบตรวจสอบย้อนกลับอาหารปลอดภัย จึงมีความสำคัญ และเป็นเรื่องใหญ่ทางการตลาดของอาหารของทุกประเทศ รวมทั้งไทย จึงผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการกำกับดูแลการผลิตอาหารให้เดินหน้าไปสู่อาหารปลอดภัย แล้วออกหนังสือรับรองกระบวนการผลิต ที่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อให้ผู้ผลิตนำไปแสดงกับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า เพื่อสร้างความมั่นใจในอาหารไทยว่าปลอดโควิด-19 ซึ่งในระยะยาวเป็นการสร้างความเชื่อมั่น สนับสนุนการส่งออกสินค้าอาหารไทย และผลักดันให้อาหารไทยเป็นอาหารโลก เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารโลก และเป็นเบอร์หนึ่งในการผลิตอาหารของโลกในอนาคต” นายจุรินทร์ กล่าวว่า

นายจุรินทร์ กล่าวว่า แสดงสินค้าอาหารที่จัดขึ้นถือเป็นปีแรกปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานให้เป็นแบบไฮบริด เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ เป็นการผสมผสานการจัดงานระหว่างออฟไลน์ และเทคโนโลยีออนไลน์ให้ผู้ซื้อ/ผู้นำเข้า ที่ไม่สามารถเข้าชมงาน ชมสินค้า และเจรจาธุรกิจกับผู้จัดแสดงสินค้าได้ เชื่อว่าจะเป็นงานต้นแบบการจัดงานรูปแบบใหม่ของโลกต่อไป และคาดว่างานนี้จะช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าเกษตร อาหารและเครื่องดื่มของไทยกว่า 6-7 พันล้านบาท ทั้งนี้ พบว่า ได้มีตัวแทนนำเข้าสินค้าเปิดเจรจาธุรกิจออนไลน์ ระหว่างผู้ประกอบการไทย 519 บริษัท และตัวแทนที่อยู่ในประเทศไทยของผู้ประกอบการต่างชาติจาก 12 ประเทศ ได้แก่ บราซิล แคนาดา จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี นอร์เวย์ โปแลนด์ ไต้หวัน อเมริกา และเวียดนาม รวม 189 บริษัท

แหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีผู้ประกอบการและส่งออกในกลุ่มประมงและปศุสัตว์ ยื่นขอการรับรองตามโครงการความร่วมมือ 4 หน่วยงานแล้ว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทำอยู่แล้วในเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพียงแต่รัฐบาลต้องการให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้นและทุกขนาดธุรกิจสามารถได้รับการรับรองในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย ในสายตาต่างประเทศ

Advertisement

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ขณะนี้ทำให้การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมติดลบสูง 20-30% แต่ในอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปพบว่าติดลบอย่างมากสุด 1% และส่วนใหญ่เป็นบวก 1-2% เพราะความต้องการอาหารทั่วโลกสูงขึ้น และไทยมีความสามารถในการผลิตและส่งออกได้ดี ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 คำสั่งซื้อสินค้าอาหารไทยชนิดสำเร็จรูปและทำให้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาก แต่ที่ลดลงในกลุ่มร้านอาหารและโรงแรมเพื่อมีการปิดกิจการและบางส่วนยังเปิดไม่เต็มพื้นที่ ซึ่งดูจากงานแสดงสินค้าครั้งนี้ แม้พื้นที่ลดลงและไม่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาเจรจาตามมาตรการป้องกันโควิด-19 แต่พบว่าคำสั่งซื้อจากตัวแทนต่างชาติในไทยยังสูง และความร่วมมือ 4 กระทรวงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นปลอดโควิด-19 จะช่วยรักษามูลค่าอาหารสำเร็จรูปของไทยที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นการบริโภคในประเทศ 1 ล้านล้านบาท และ75% ของการผลิตใช้วัตถุดิบในประเทศ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image